กสอ.เผยแแผนเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs 2 ส่วน ทั้งพลิกฟื้นสถานประกอบการด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และตั้งคลิกนิกอุตสาหกรรม หวังกลับมาเดินเครื่องผลิตสินค้าได้เร็วที่สุด รับห่วงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระทบ Supple Chain
นางบุญเจือ วงศ์เกษม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย แผนฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประภัยน้ำท่วมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีประมาณ 1,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งได้รับกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งระบบ โดยเฉพาะการขาด Supply Chain ที่ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีขับเคลื่อนต่อไปได้
ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ ได้วางแผนช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1.การฟื้นฟูสถานประกอบการ กรณีที่โรงงานผลิต เครื่องจักร ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม จะมีการประสานงานกับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการโดยเร็วที่สุด พร้อมยื่นเงื่อนไขการกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำประมาณ 3% โดยให้ทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ส่วนหนึ่ง รวมถึงการพักชำระหนี้นาน 6 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่คาดว่าจะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะพร้อมกลับมาผลิตสินค้าได้อีกครั้ง
สำหรับมาตรการการช่วยเหลือในส่วนที่ 2 คือ การตั้งคลินิก
อุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูสถานประกอบการเอสเอ็มอี โดยทางกรมฯ จะส่งทีมงาน และนักวิชาการ เข้าไปช่วยวางแผนบริหารจัดการ คาดว่า 1 โรงงานจะใช้เวลาฟื้นฟูประมาณ 45 วัน (กรณีที่เครื่องจักรไม่ได้รับความเสียหาย และไม่ต้องสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ) ซึ่งขณะนี้ทีมงานของกรมฯ พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทันทีหลังน้ำภายในโรงงานลดลง
อย่างไรก็ตามตัวเลขธุรกิจเอสเอ็มที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 1,000 โรงงาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์ดิจิตอล ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับกระทบจากเหตุน้ำท่วมมีประมาณ 600 โรงงาน เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สำคัญของประชาชนเป็นหลัก