ความได้เปรียบในเรื่องรู้แหล่งสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการนำไปจำหน่าย เพียงแค่บอกโจทย์มาห็สามารถเสาะหาให้ได้ กลายเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า ที่วันนี้ต่อยอดเป็นธุรกิจส่วนตัว จากการคลุกคลีในตลาดต่างประเทศและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่ต้องมากด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานคุ้มค่าสมราคา ก่อเกิดเป็น “พวงกุญแจไฟฉาย” ที่แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่หากมองให้ลึกก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่รับไปจำหน่ายต่อได้ไม่น้อย
ตติยะ จูฑะพุทธิ เจ้าของธุรกิจพวงกุญแจไฟฉาย แบรนด์ AIKO เล่าว่า เดิมตนเองทำงานประจำ เป็นพนักงานกินเงินเดือนทั่วไป ให้กับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น แต่มาตั้งบริษัทในประเทศไทย เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนายตติยะ จะเป็นผู้รับโจทย์สินค้าที่ทางบริษัทต้องการตามแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่กำหนด ทำให้รู้แหล่งผลิตสินค้าไทยที่ดีตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแดนปลาดิบ
ด้วยตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวทำให้ต้องเดินทางอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น จนเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับอาชีพนี้ต้องการทำงานอยู่ในเมืองไทย จึงเข้าทำงานในบริษัทหนึ่ง โดยเจ้าของเป็นชาวสหรัฐฯ เป็นผู้หาสินค้าในไทยส่งไปขายยังสหรัฐฯ จนกระทั่งบริษัทปิดตัวลง ก็ได้ไอเดียทำธุรกิจของตนเอง จากการค้นพบว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดที่กว้างมาก รวมถึงผู้คนยังมีกำลังซื้อสินค้าหากราคาไม่สูงเกินไปนัก
จากการที่ได้คลุกคลีกับการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้ระยะหนึ่ง ทำให้ได้ไอเดียเริ่มต้นธุรกิจว่าหากจะผลิตสินค้าชนิดหนึ่งนั้นต้องอาศัยการออกแบบให้แตกต่าง รวมถึงมีฟังก์ชั่นการใช้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการ จนกระทั่งไปเจอหลอด LED ขนาดเล็กที่ให้แสงสว่างเกินตัว มีให้เลือกหลายสี ได้แก่ แดง เหลือง เขียว ฟ้า และขาว มีอายุการใช้งานมากกว่า 6 เดือน (หากกดต่อเนื่องกัน 20-30 วินาที/วัน) และน่าจะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ หากใส่ไอเดียการออกแบบลงไป สุดท้ายจึงตัดสินใจนำเข้าชุดหลอดไฟและถ่านจากต่างประเทศ เน้นคุณภาพเกรดเอ โดยในช่วงนั้นยังเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์
จนกระทั่งไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่เห็นชาวบ้านเย็บตุ๊กตาผ้าแล้วนำแม่เหล็กมาเย็บติดก็สนใจและคิดนำชุดไฟฉายจากหลอด LED มาประยุกต์เป็นการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้ผลิตตุ๊กตาผ้าให้ ส่วนการออกแบบนายตติยะ จะเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด เน้นความน่ารักสดใสของตุ๊กตารูปสัตว์ ส่งขายตามห้างสรรพสินค้า เช่น ห้างในเครือเซ็นทรัลแทบทุกสาขา (จำหน่ายในส่วนของ Be Trend) รวมถึงรับสั่งผลิตเป็นสินค้าพรีเมียม ของชำร่วยด้วย
“ในช่วงแรกที่เราทำเป็นสินค้าพรีเมียม และของชำร่วยบางครั้งต้องใช้ชื่อของโลโก้ขององค์กรนั้นๆ ด้วย แต่ผ้าที่เรานำมาเย็บเป็นตุ๊กตาเป็นผ้าสักหลาด (Felt) หากนำไปสกรีนจะไม่ติดหรือหลุดลอกง่าย ผมจึงคิดหาวิธีใส่ชื่อและโลโก้ลงในผลิตภัณฑ์ด้วยการติด tag หรือริบบิ้นผ้า โดยนำมาสกรีนเอง ทำให้หมดปัญหาดังกล่าวลงไปได้ ต่อมาก็พัฒนาเป็นหนังเทียม และพลาสติกใสกันน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นสินค้าพรีเมียมขององค์กรต่างๆ เพราะสามารถรับออเดอร์สั่งผลิตในปริมาณมากได้ จากกำลังการผลิต 1 ตัว ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ส่วนงานผ้าต้องใช้แรงงานคนเย็บตกเพียงวันละ 50 ตัวเท่านั้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกงานผ้าในห้างอยู่ที่ 145 บาท และหนังเทียม 95 บาท”
นอกจากนี้พวงกุญแจไฟฉาย AIKO ยังเป็นผู้รับจ้าง (OEM) โดยลูกค้าหลักเป็นชาวญี่ปุ่น และมาเลเซีย เน้นงานผ้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสัดส่วนการจำหน่ายพวงกุญแจไฟฉายในปัจจุบัน คือ 50% เป็นสินค้าพรีเมียม อีก 40% เป็นของชำร่วยงานแต่งงาน และที่เหลืออีก 10% วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป นอกจากนี้ผู้บริหารพวงกุญแจไฟฉาย AIKO ยังได้ออกแบบพวงกุญแจโดยใช้พลาสติกกันน้ำ สกรีนลวดลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย หวังเป็นอีกช่องทางให้ผู้สนใจรับไปจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยวได้ กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ด้วยเงินทุนที่ไม่สูงเกินไปนัก เพียงสั่งสินค้าขั้นต่ำ 500 ชิ้น สามารถคละลายและรูปแบบได้ ขายในราคาส่ง พร้อมได้ป้าย Display ชื่อร้านให้ด้วย
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต ตติยะ บอกว่า เตรียมเจาะตลาดส่งออก เนื่องมีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อนหลายปี โดยมองตลาดในประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์เป็นหลัก
***สนใจติดต่อ 08-9109-1471 หรือที่ www.i-style-product.com***