สสว.แถลงผลงานโครงการสร้างเครือข่ายเอสเอ็มอีต้นแบบ นำร่อง 3 อุตสาหกรรมดาวรุ่ง ระบุแต่ละกลุ่มสามารถสร้างสมาชิกมากกว่า 400 ราย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากที่ สสว. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบ นำร่องใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่มีศักยภาพทางการตลาด และมีมูลค่าทางการเศรษฐกิจสูง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจในรูปแบบเครือข่าย ได้แก่ สาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์-ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สาขาเครื่องสำอาง-ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และสาขาอู่ต่อเรือ/ซ่อมเรือ-ธุรกิจที่เกี่ยวเนี่อง ซึ่งผลการดำเนินงาน สาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ เกิดการสร้าง 4 เครือข่าย แต่ละเครือข่ายเกิดสมาชิกมากถึง 400 ราย อีกทั้งยังได้ โรดแมดสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในสาขานี้ให้เข้มแข็งอีกด้วย
ด้านสาขาเครื่องสำอางฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 650 ราย รวมถึง นำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 40 ราย ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลี เพื่อพัฒนาเป็น SMEs ต้นแบบ ขณะที่สาขาอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือฯ ได้จัดสัมมนามีผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เข้าร่วม จำนวน 300 ราย และสามารถสร้างเครือข่าย 3 เครือข่าย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
นอกจากนั้น ในช่วงปีที่ผ่านมา สสว. ยังได้ดำเนินโครงการอีกหลายโครงการเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ โครงการ Asean Design & Crafts Sourcing Hub Phase 2 ซึ่ง สสว. ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินโครงการ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน
รวมถึงการจัดกิจกรรมนำสินค้าหัตถกรรมที่พัฒนาแล้วไปออกงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ได้แก่ งาน BIG+BIH 2011 ประเทศไทย งาน Hong Kong International Gift Fair 2011 เกาะฮ่องกง และงาน World Market Center, Las Vegus ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงทำให้เกิด Collective Brand โดยมีผลิตภัณฑ์กว่า 200 รายการ ภายใต้แบรนด์ Craft & Co เพื่อส่งเสริมการตลาดที่ยั่งยืน ให้แก่ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้สามารถแข่งขันและต่อรองกับคู่ค้าและลูกค้ารายใหญ่ได้
โครงการส่งเสริมคลัสเตอร์ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเอเซีย (ระยะที่ 2) โดยมี มูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นผู้ดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการขยายตลาดต่างประเทศ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษาและจัดทำแผนการตลาดให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ จำนวน 46 ราย และจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ จนเกิดคู่ค้าขึ้นมากกว่า 95 คู่ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับกลุ่มคลัสเตอร์อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน มีการนำผู้ประกอบการใหม่ในคลัสเตอร์ไปเปิดตลาดในประเทศรัสเซียและจีน ซึ่งคาดว่า ในปี 2555 จะสามารถนำผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ราย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านบาท
และโครงการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs บนแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านกิจกรรมสัมมนา จำนวน 1,175 ราย การอบรมเชิงลึกด้วยการจัดทีมที่ปรึกษาเพื่อเป็นพี่เลี้ยง ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผ่านการพัฒนาแล้ว จำนวน 68 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำผู้ประกอบการไปออกงานแสดงสินค้าและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มีช่องทางการตลาด และสามารถจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น และสามารถนำความรู้จากการอบรมตามแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ไปพัฒนาสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาค ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จำเป็นต่อเร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างกระบวนการความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน สนับสนุนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในพื้นที่ให้เป็นสอดคล้องกับแผนปฎิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อันเป็นภารกิจหลักของ สสว. อีกทั้งยังสามารถสร้างเครือข่ายการส่งเสริม SMEs ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค และเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่มีจำนวนกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูลที่ทันสมัย สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในที่สุด” นายยุทธศักดิ์ กล่าว