xs
xsm
sm
md
lg

“ซิป้า” ควงแขน “เอสเอ็มอีแบงก์” อุ้มธุรกิจซอฟต์แวร์เข้าถึงเงินทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ซิป้า” ประสานพลัง “เอสเอ็มอีแบงก์” คลายปมธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน จัดโครงการสินเชื่อพิเศษวงเงิน 500 ล้านบาท ระบุเกณฑ์ต้องผ่านพิจารณาจากซิป้า เผยให้สิทธิ์กู้ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อซอฟต์แวร์

ดร.นิรชราภา ทองธรรมชาติ รองผู้อำนวยการบริหาร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า (SIPA) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีมูลค่าการตลาดต่อปีกว่า 67,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการอยู่ในอุตสาหกรรมนี้กว่า 2,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตซอฟต์แวร์ แอดิเมชั่น และเกม ที่ผ่านมามีอัตราโตเติบต่อเนื่อง โดยปีที่แล้ว (2554) โตกว่า 8% ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และมีมูลค่าการตลาดสูงมาก สอดคล้องกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ คือ ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนของสถาบันการเงิน เพื่อจะใช้ดำเนินหรือขยายธุรกิจได้ เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะมองธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจนามธรรม ความเสี่ยงสูง และยากจะสร้างรายได้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ซิป้าได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินภาครัฐ ให้เข้ามาช่วยเป็นแหล่งเงินทุน ในโครงการ “SME สินเชื่อเพื่อกิจการซอฟต์แวร์ไทย” โดยผู้ประกอบการที่จะได้สินเชื่อในโครงการนี้ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการซิป้า เพื่อกลั่นกรองความเป็นไปได้เชิงเทคนิค จากนั้นจะส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่เอสเอ็มอีแบงก์ เพื่ออนุมัติสินเชื่อต่อไป

นอกจากกลุ่มผู้ผลิตซอฟต์แวร์แล้ว โครงการนี้ยังให้สิทธิ์ขอสินเชื่อแก่ผู้ที่ต้องการซื้อซอฟต์แวร์ เพื่อนำใช้ในธุรกิจของตัวเองด้วย เบื้องต้นทางเอสเอ็มอีได้จัดวงเงินในโครงการนี้ไว้มูลค่า 500 ล้านบาท วงเงินกู้ 5 แสนบาทต่อราย เบื้องต้นมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการแล้ว 10 กว่าราย ตั้งเป้าว่า จะสามารถช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ได้ถึง 100-200 ราย อีกทั้ง ในอนาคตจะขอให้เอสเอ็มอีขยายวงเงินกู้เป็น 1 ล้านบาทต่อรายด้วย

ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า สินเชื่อในโครงการนี้ วงเงินกู้ 5 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ MLR ต่อปี (MLR=7%) ระยะผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นปีแรก และสามารถกู้ได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจากความร่วมมือครั้งนี้ เชื่อว่า จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถขยายตลาดได้กว้างยิ่งขึ้น และในอนาคตเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมที่จะขยายวงเงินให้สำหรับรายที่มีศักยภาพ เพื่อนำไปต่อยอดความสำเร็จต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น