xs
xsm
sm
md
lg

คอมพ์โรงเรียนไทย สวนทางโลก!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้คอมพิวเตอร์ที่ร่วมประมูลในโครงการคอมพ์ สพฐ. ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งส่วนของพีซี และเซิร์ฟเวอร์ ความรู้สึกว่าข้อกำหนดนี้ "ขัด" กับการสนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกจึงเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

คำถามคือคอมพิวเตอร์ที่จะเข้าไปในระบบการศึกษาไทยมากกว่า 3 แสนเครื่องภายใน 3 ปีนับจากนี้ จะเป็นเครื่องมือการศึกษาที่ดีต่อเยาวชนไทยหรือไม่ หรือแค่ "ผู้มีอำนาจ" มองเห็นแต่สิ่งที่ตนเองคิดว่าดี แต่ไม่ได้มองถึงพัฒนาการที่เด็กจะได้รับ

หนึ่งในผู้ที่ตั้งคำถามนี้คือ ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ จำกัด (วีเทค) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลคอมพ์โครงการสพฐ. ระบุว่ามองเห็นปัญหาระยะยาวในภาคการศึกษาไทยชัดเจน และเกิดแนวคิดผลักดันให้ภาคการศึกษาหันไปให้ความสำคัญกับการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายและกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนามากกว่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์

"การที่วีเทคเข้าร่วมประมูล ทำให้รู้ว่าดูไปแล้วเหมือนภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาไทย เพราะจากการประมูลโครงการนี้จะมีคอมพิวเตอร์เข้าไปในระบบการศึกษามากกว่า 3 แสนเครื่อง ภายใน 3 ปี ซึ่งเครื่องทั้งหมดใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ทิศทางโอเพนซอร์สในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด"

วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการสพฐ. มีเป้าหมายเพื่อลดสัดส่วนนักเรียนต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์จากอัตราส่วน 40 ต่อ 1 ให้เหลือ 10 ต่อ 1 แต่การประมูลที่เกิดขึ้นทำให้สังคมสงสัยนโยบายการศึกษาของรัฐบาลไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับนโยบายของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเกาหลี

"หน่วยงานการส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสนเทศ เกาหลี (KIPA) ให้ข้อมูลว่ามีการนำโอเพนซอร์สเข้ามาใช้ในโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นเพราะเด็กอายุน้อยชอบศึกษาและทดลองใช้ (โอเพนซอร์ส) มากกว่าซอฟต์แวร์สำเร็จรูป"

ไม่เพียงสวนทางระบบการศึกษา แต่สิ่งที่โครงการสพฐ.เป็นยังสวนทางกับแนวโน้มในโลกธุรกิจ จุดนี้ณัฐพงศ์ให้ข้อมูลว่าในประเทศจีน ผลวิจัยของ CCID คอนซัลติ้ง พบว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์จะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 43.3% ต่อปี สอดคล้องกับศูนย์การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในกรุงปักกิ่ง ที่เผยสถิติว่ายอดการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ลินุกซ์ในจีนจะเติบโตมากกว่า 40% ต่อปี

เช่นเดียวกับข้อมูลจากบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ ที่ระบุว่าในระหว่างปี 2006 - 2011 ตัวเลขการเติบโตทางรายได้ของโอเพนซอร์สจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 43% ส่วนซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์จะมีอัตราการเติบโตเพียง 8% ซึ่งการเติบโตของโอเพนซอร์สไม่ได้มาเฉพาะในคอมพิวเตอร์ แต่มาทั้งในส่วนของเซิร์ฟเวอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต

"การใช้งานโอเพนซอร์สในปัจจุบันไม่เหมือนกับเมื่อก่อนแล้ว ที่ใครๆมองว่าใช้งานยาก ปัจจุบันมีการพัฒนาอินเตอร์เฟสเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่นแอนดรอยด์ที่มีการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สอย่างชัดเจน และขณะนี้หน่วยงานในประเทศไทยเช่น ซิป้า และเนคเทค ล้วนช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจหันมาใช้งานโอเพนซอร์ส แต่กระทรวงศึกษาที่เป็นแหล่งต้นน้ำกลับเลือกกำหนดให้คอมพิวเตอร์ที่ร่วมประมูลในโครงการคอมพ์ สพฐ. ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งส่วนของพีซี และเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งขัดกับการสนับสนุนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของหน่วยงานอื่นๆในประเทศ เมื่อกระทรวงศึกษากำหนดทีโออาร์ให้เป็นเช่นนั้นแล้วจึงกลายเป็นข้อสงสัยว่าจริงๆแล้วต้องการส่งเสริม หรือไม่ส่งเสริมโอเพนซอร์ส เหมือนทำเป็นแค่ตามเทรนด์ และทำเฉพาะกลุ่มเท่านั้น"

แม้ว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในเมืองไทยมองว่าซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพนซอร์สใช้งานยาก ไม่เสถียร แต่ณัฐพงศ์บอกว่าหากมองในส่วนของการศึกษา รัฐบาลควรส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และใช้งานซอฟต์แวร์เหล่านี้ เพื่อให้มีความรู้ในหลายด้าน ไม่ใช่สอนให้ใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธ์เท่านั้น

"ไม่ใช่ว่าคนไทยรับหรือไม่รับโอเพนซอร์ส แต่อยู่ที่ว่าภาคการศึกษาจะใส่อะไรเข้าไปให้เด็กได้เรียนรู้มากกว่า ทำไมจึงไม่เลือกใส่โอเพนซอร์ส ทั้งๆที่มีหลายหน่วยงานในเมืองไทยเสียงบประมาณในการพัฒนาระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้ฟรีบนพื้นฐานของลินุกซ์ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม"

ณัฐพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า หากสมมุติให้เด็ก 2 ประเทศมาแข่งขันกัน ประเทศหนึ่งใช้โอเพนซอร์ส อีกประเทศหนึ่งใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศใดจะมีโอกาสในทางธุรกิจมากกว่ากัน เนื่องจากโอเพนซอร์สเปิดโอกาสให้เด็กมีการเรียนรู้มากกว่า ต้องคิดมากกว่า เมื่อถึงเวลาใช้งานจริงเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ย่อมพัฒนาได้เร็วกว่าเด็กที่ใช้อุปกรณ์แบบสำเร็จรูป

"นโยบายการศึกษาของไทยเกิดขึ้นภายใต้แนวความคิดที่ว่า คนคิดไม่ได้ใช้ และคนที่ใช้ไม่ได้คิด เน้นสิ่งที่ตนเองคิดว่าดี แต่ไม่ได้มองถึงพัฒนาการของเด็ก เพราะในการใช้งานจริงผู้ใหญ่หลายๆคนต้องการใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อความรวดเร็ว ในขณะที่เด็กที่เป็นวัยกำลังเรียนรู้สามารถนำโอเพนซอร์สไปประยุกต์ใช้งานได้"

การผลักดันโอเพนซอร์สเข้าไปในโรงเรียนจะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดการพัฒนาเพื่อเข้าสู่การแข่งขัน แม้ว่าซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์จะเบ็ดเสร็จกว่า ในขณะที่โอเพนซอร์สจำเป็นมีการปรับแต่งเพื่อให้เข้ากับการใช้งาน ซึ่งการส่งเสริมให้บุคลากรครูมีความรู้ด้านไอทีจึงเริ่มกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

"ถ้าอุปกรณ์พร้อม ซอฟต์แวร์พร้อม ผมเชื่อว่าเด็กสามารถหาทางศึกษาได้เอง แต่ปัจจุบันยังต้องยอมรับว่านโยบายต่างๆโตไม่ทันเด็ก โดยเฉพาะในเรื่องไอที ในขณะที่โครงการทางด้านอินฟราสตรัคเจอร์ที่จะลงทุนโครงข่ายอย่างบรอดแบนด์แห่งชาติจะช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถขวนขวายหาความรู้ได้เป็นอย่างดี"

นอกจากนี้ยังมองว่าการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้งานโอเพนซอร์สจะช่วยส่งเสริมทัศนคติในแง่ดี ช่วยให้มีความฉลาดและไม่กลัวปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะพร้อมที่จะหาทางแก้ไข ในขณะที่เด็กไทยในปัจจุบันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มักจะหันไปพึ่งผู้เชียวชาญหรือบุคคลที่มีความรู้มาแก้ปัญหาให้ โดยไม่ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

"สมมุติเด็กไทยคอมพิวเตอร์แฮงค์ ก็จะหาทางเปลี่ยนเครื่อง ไม่ก็โทษว่าเครื่องไม่ดี แต่ไม่พยายามแก้ปัญหา เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้สอนให้เด็กเดินไปกับสิ่งที่ควรเป็น"

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่หน่วยงานรัฐสนับสนุนให้มีการใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์ อาจจะเป็นเพราะเรื่องงบประมาณ เนื่องจากในการใช้งานโอเพนซอร์สนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เลยอาจกลายเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการสนับสนุนโอเพนซอร์สมากเท่าที่ควร

"ถ้าเป็นเรื่องการศึกษาทุกคนต้องคิดดีๆ เพราะถือว่าเป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศ กลุ่มคนใช้งานโอเพนซอร์สในประเทศไทยแม้จะมีอยู่แต่เป็นกลุ่มที่เล็กมาก จึงเสียดายนโยบายจากกระทรวงการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีพลังที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานโอเพนซอร์ส และลดงบประมาณที่ใช้ในการจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธ์อย่างเฉพาะในโครงการสพฐ. ที่น่าจะอยู่ราว 200 - 300 ล้านบาท"

ในขณะเดียวกันภาครัฐควรมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในวงกว้างมากขึ้น ให้เป็นไปตามกระแสไอทีโลก ที่เน้นให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมเปิด ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆในปัจจุบัน

ทั้งนี้ในโครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการศึกษา งบประมาณประจำปี 2554 ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดแบ่งงบประมาณสำหรับการประมูลเพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ อยู่ที่ราว 7,949 ล้านบาท โดยจะมีการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 482,000 เครื่อง ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ 17,328 โรง ภายใต้งบประมาณไทยเข็มแข็ง

สำหรับวีเทค วีเทคเป็นบริษัทที่เริ่มได้รับความรู้จักมากขึ้นจากการเข้าร่วมประมูลในโครงการสพฐ. ที่ได้ส่วนแบ่งในการประมูลครั้งที่ผ่านมาประมาณ 12.5% จาก 4,000 กว่าล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 400 กว่าล้านบาท
ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ จำกัด (วีเทค)
** ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สคืออะไร **

คำจำกัดความของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส หรือจากเดิมเรียกกันในชื่อซอฟต์แวร์เสรี ซึ่งเป็นได้ทั้งซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทำการแก้ไข ดัดแปลง เพื่อเผยแพร่ แจกจ่าย ให้กับสาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธ์ หรือสามารถนำไปพัฒนาเพื่อวางจำหน่ายได้โดยส่วนใหญ่แล้วซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมักจะพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการลินุกซ์ แต่ก็สามารถนำไปใช้กับแพลตฟอร์มอื่นๆได้เช่นกัน

ซึ่งในประเทศไทยมี 2 หน่วยงานหลักที่สนันสนุนให้เกิดการใช้งานโอเพนซอร์สในประเทศไทยอย่าง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ที่เป็นแม้แรงสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้งานโอเพนซอร์สในประเทศไทย

โดยซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ผู้บริโภคน่าจะรู้จักกันดีและมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์น่าจะเป็นชุดโปรแกรมโอเพนออฟฟิศ (OpenOffice) ระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สของซิป้าอย่าง สุริยัน (Suriyan) และจันทรา (Chantra) ที่ยังคงมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง

Company Related Link :
VTEC
กำลังโหลดความคิดเห็น