ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์เสมอ นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานเครื่องใช้ และของตกแต่งบ้านที่ประดับด้วย “ใบบัว” ช่วยเสริมความสวยงาม โดดเด่นกว่าสินค้าในท้องตลาดทั่วไป พร้อมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ขยายตลาดสู่ลูกค้าระดับไฮเอนด์
ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดีย คือ สมศักดิ์ หงส์วิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิรดาโปรดักส์ จำกัด ที่ยึดมั่นแนวทางต่อยอดผลิตภัณฑ์เสมอมา ตั้งแต่เริ่มต้นทำบรรจุภัณฑ์กระดาษสาใส่ขนมข้าวแต๋น เมื่อปี พ.ศ.2542
“จากที่บรรจุภัณฑ์ของผม สวยและไม่เหมือนเจ้าอื่นๆ ทำให้ได้ออเดอร์สั่งทำบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก ผมเลยหันมาทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษสาอย่างจริงจัง ศึกษาและพัฒนากระดาษสาต่อเนื่อง เช่น นำกระดาษสามาร่วมกับเทียน หรือออกแบบลวดลายกระดาษไม่เหมือนใคร ช่วยให้ตลาดตอบรับดีมาตลอด” สมศักดิ์ อธิบายเสริม
จนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว พบงานหัตถกรรมตกแต่งด้วยใบบัว ที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร เกิดแรงบันดาลใจอยากนำใบบัวมาต่อยอดกับผลิตภัณฑ์กระดาษสาของตัวเองบ้าง หลังจากนั้น ใช้เวลากว่า 6 เดือน กับเงินทุนกว่า 6 หลัก เพื่อทดลองและพัฒนาสูตรการถนอมใบบัว ให้สามารถใช้ตกแต่งวัสดุต่างๆ ได้
สมศักดิ์ เล่าว่า คิดค้นสูตรด้วยตัวเอง โดยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่หมักใบบัวกับสารเคมีบางชนิดนานนับสัปดาห์ เพื่อให้เส้นใยใบบัวดูดซึมความชุ่มชื่นไว้ ใบบัวที่ได้จะคงสภาพเดิม มีลักษณะใบอ่อนนุ่ม ไม่หดตัว เก็บรักษาได้นานในอุณหภูมิปกติโดยไม่แห้งกรอบ สามารถนำไปใช้ติดประดับวัสดุต่างๆ ได้ทุกรูปทรง ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเหนือกว่าการนำใบบัวมาใช้ในอดีต ที่จะเป็นใบแห้ง ลักษณะแผ่นแบนเรียบ ไม่สามารถจะพลิกแพลงไปตกแต่งวัสดุรูปทรงแววหรือโค้งต่างๆ ได้
“เบื้องต้น ผมใช้ร่วมกับงานกระดาษสา ทำออกมาเป็นสมุดโน้ต กล่องกระดาษสา ฯลฯ จากนั้น คิดว่าเราน่าจะพัฒนาสู่การทำเป็นของใช้ตกแต่งบ้าน โดยนำไปร่วมกับวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ไม้ กะลามะพร้าว เซรามิก แก้ว ฯลฯ จากนั้น ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา เช่น นาฬิกา เชิงเทียน กรอบรูป แจกัน วอลล์อาร์ต ฯลฯ รวมถึงขณะนี้ มีกว่า 300 รายการ” หนุ่มช่างคิด เผย
ทั้งนี้ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อม สีที่ใช้ย้อมมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น สีเขียวจากก้านบัว สีชมพูจากเกสรบัว เป็นต้น สามารถย่อยสลายด้วยกระบวนการธรรมชาติภายใน 15 วัน ส่วนความคงทนของผลิตภัณฑ์ หากเป็นชิ้นที่ต้องสัมผัสกับมือผู้ใช้โดยตรงเสมอ เช่น สมุดโน้ต กล่องใส่นามบัตร อายุใช้ประมาณ 2 ปี ใบบัวจะเริ่มฉีกขาด แต่หากเป็นประเภทประดับตั้งโชว์ อย่างวอลล์อาร์ต หรือกรอบรูป อายุใช้งานมากกว่า 5-6 ปีขึ้นไป
สมศักดิ์ เผยด้วยว่า การนำใบบัวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยเพิ่มยอดขายจากเดิมมากกว่า 2 เท่าตัว โดย ขยายไปหาตลาดใหม่ กลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ชาวต่างชาติ ที่จะชื่นชนงานดังกล่าวมาก ส่วนผลิตภัณฑ์กระดาษสายังคงรักษาฐานลูกค้ากลุ่มระดับกลางบนเช่นเดิม ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้บริษัทมาจากทั้งสองส่วนอย่างละครึ่ง
“ผมจะเน้นต่อยอดจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ควบคู่กับดูความต้องการของตลาดและลูกค้า ผมจะมีดีไซน์ใหม่ ทุกๆ 6 เดือน ก่อนจะออกแบบต้องทำการบ้านล่วงหน้า เช่น ดูเทรนด์ตลาดในอนาคต ศึกษาวัฒนธรรมของลูกค้าในแต่ละประเทศ เพื่อจะทำสินค้าออกมาให้ถูกใจตลาดมากที่สุด” สมศักดิ์ เสริม
การผลิตใช้วิธีสร้างงานแก่กลุ่มชาวบ้านใน จ.ลำปาง โดยส่งเสริมให้ทำครบวงจร ตั้งแต่ปลูกบัว เก็บบัว หมักบัว จนถึงทำเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับบัวที่ใช้เลือกพันธ์บัวหลวง ซึ่งมีขนาดและคุณสมบัติพื้นฐานเหมาะที่สุด โดยมีเนื้อที่ปลูกบัวรวมกว่า 80ไร่ เฉลี่ยต่อเดือนผลิตสินค้าประมาณ 10,000 ชิ้น ต่อปีปริมาณการใช้ใบบัวกว่าล้านใบทีเดียว
ช่องทางตลาด อาศัยออกงานแสดงสินค้าส่งออก ปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อรับออเดอร์ลูกค้าต่างชาติ ราคาขายตั้งแต่ 0.6 - 20 เหรียญสหรัฐ ตลาดใหญ่กว่า 70% จะส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ตามลำดับ ส่วนตลาดในประเทศ จะรับผลิตตามคำสั่งซื้อ
ปัจจุบัน เอสเอ็มอีรายนี้เป็นเจ้าเดียวในเมืองไทยที่ทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และของแต่งบ้านจากใบบัว อย่างไรก็ตาม ไอเดียต่อยอดยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ได้เริ่มปรับกระบวนการผลิตให้เป็นออร์แกนิกส์ 100% ตั้งแต่การปลูกบัวด้วยเกษตรอินทรีย์ การหมักและย้อมสีใบบัวด้วยวัสดุธรรมชาติ เหล่านี้จะช่วยเปิดตลาดสินค้าสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ได้พัฒนานำใบไม้ชนิดอื่นๆ มาแปรรูปด้วย เช่น กากกล้วย ใบลำไย ใบมะม่วง เป็นต้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ส่วนแผนระยะยาว จะพยายามขยายตลาด โดยเปิดร้านในเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ตัวเองว่า “ศิรดา” อีกทั้ง ส่งขายในห้างสรรพสินค้า รวมถึง หาพันธมิตรมาเสริมการตลาดให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
โทร.08-1846-8938 หรือ www.siradaproducts.com