xs
xsm
sm
md
lg

ขีดความสามารถ SMEs ไทยในเวทีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร     ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

บทความโดย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ มีทรัพยากรทางธรรมชาติหลากหลาย มีตลาดขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนยังเผชิญกับปัญหาในเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ระดับความแตกต่างทางเศรษฐกิจที่มีตั้งแต่ประเทศที่มีรายได้สูงไปจนถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำ รวมทั้งระดับการพัฒนาสังคมความเป็นอยู่

ในช่วงแรก อาเซียนมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีผ่านมา อาเซียนไม่ได้มีการเติบโตหรือพัฒนาที่ดีนัก โดยดูได้จากการจัดลำดับพื้นฐานศักยภาพการแข่งขันคงที่คงที่หรือลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับจีนและอินเดีย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP per Capita ของอาเซียนในปัจจุบันต่ำกว่าของจีนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วมาก ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกและการลงทุนทางตรงได้ลดลงหรือคงที่มาโดยตลอด

ที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนเกิดจากปัจจัยหลัก คือ การส่งออก ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เป็นที่นิยม อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ครั้ง ทำให้ตลาดหลักในการส่งออกเกิดการหดตัวเป็นอย่างมาก อาเซียนจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพิงการส่งออก จำเป็นต้องมีการกระตุ้นและสร้างความต้องการในประเทศและในภูมิภาค นอกจากนี้ อาเซียนยังมีผลิตภาพแรงงานและระดับการพัฒนานวัตกรรมค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีศักยภาพการแข่งขันสูงในสาขาย่อยเรื่องอุตสาหกรรมสนับสนุนหรืออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง น่าจะเป็นผลมาจากเครือข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หากพิจารณาทั้งภูมิภาคแล้วจะพบว่ามี Cluster หลายสาขาที่มีศักยภาพ เช่น IT น้ำมันและก๊าซ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โลหะและการผลิตโลหะ บริการธุรกิจ และโลจิสติกส์

จากรายงานล่าสุด ASEAN COMPETTITIVENESS REPORT 2010 ได้เสนอแนะให้อาเซียนมุ่งเน้นการสร้างเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ เช่น การพัฒนาเครือข่าย Cluster โดยยกกระดับเครือข่ายที่มีอยู่ หรือค้นหาการพัฒนาเครือข่ายที่มีศักยภาพเพิ่มเติม การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในตลาดทุน โดยปรับปรุงและรวมการเข้าถึงตลาดทุนในอาเซียนเข้าไว้ด้วยกันได้ จะช่วยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาคได้ดี การมีตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจได้ดี และอาเซียนยังสามารถผลักดันการพัฒนาวิสาหกิจโดยส่งเสริมการเรียนรู้การบริหารจัดการ จากบริษัทต่างชาติ และอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจที่จะเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาค และระดับโลก ในขณะที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อน โดยหลายประเทศในอาเซียนยังคงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ขั้นตอนศุลกากร จำนวนวันในการเริ่มต้นธุรกิจ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในเรื่องนี้ เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหา ได้แก่ คอร์รัปชั่น และอาชญากรรม เป็นต้น
ที่มา: ASEAN COMPETTITIVENESS REPORT 2010
@@@ ศักยภาพการแข่งขันประเทศไทย @@@

สำหรับประเทศไทย ใน ASEAN COMPETITIVENESS REPORT 2010 ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในระดับจุลภาค (ปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจและการดำเนินงานของธุรกิจ) ดีกว่าศักยภาพระดับมหภาค (การพัฒนาทางสังคม สถาบันการเมือง และนโยบายการเงินการคลังมหภาค) โดยศักยภาพการแข่งขันที่เข้มแข็งในระดับจุลภาคของประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนที่การพัฒนา SMEs สามารถดำเนินการได้ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสนับสนุนหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนโยบายเกี่ยวกับ Cluster ระดับความร่วมมือใน Cluster จำนวนของ Suppliers ในประเทศ และการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ตลอดจนการควบคุมการกระจายสินค้าในต่างประเทศ ในขณะที่ศักยภาพการแข่งขันในระดับจุลภาคประเทศไทยมีลำดับลดลง ได้แก่ ตลาดทุน สิ่งอำนวยความสะดวกทางโลจิสติกส์ และการคมนาคม นอกจากนี้ประเทศไทยมีลำดับความสามารถในการแข่งขันต่ำลงอย่างชัดเจน คือ การใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ การใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของธุรกิจ และการมีความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบในภาพรวมของประเทศ

ดังนั้น ด้วยศักยภาพการแข่งขันดังกล่าวส่งผลทำให้ประเทศไทย ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับรายได้ของประเทศ โดยไทยยังคงถูกจัดเป็นประเทศ Lower Middle Class มาโดยตลอด ส่วนประเทศมาเลเซียได้เลื่อนลำดับจากความเป็นประเทศ Lower Middle Class มาเป็น Upper Middle Class ตั้งแต่ปี 1992 และประเทศเวียดนามก็ได้เลื่อนลำดับจากการเป็น Low Class มาเป็น Lower Middle Class เช่นเดียวกับประเทศไทยในปี 2009 ในขณะที่ระดับผลิตภาพแรงงานของประเทศไทยในปี 2008-2009 มีระดับผลิตภาพแรงงานต่ำมาก โดยมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานติดลบ และ GDP เฉลี่ยต่อการจ้างงานต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก

การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนให้เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงาน รวมถึงความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผลกระทบในด้านบวก หมายถึง ขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากการรวมเป็นตลาดเดียว และการลดอุปสรรคกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ทางด้านภาษี ขณะที่ผลในด้านลบโดยเฉพาะผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากคู่แข่งขันในกลุ่มที่เคยมีศักยภาพต่ำกว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างพยายามหาแนวทางแก้ไขจุดอ่อนเพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศของตนมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ความพยายามต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่มากก็น้อย

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ศึกษาเปรียบเทียบนโยบายและมาตรการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า จุดแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย คือ การมีทักษะในด้านงานศิลป์ มีจิตใจการให้บริการ และหากสามารถนำภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ในสินค้าและบริการได้จะเสริมให้สินค้าไทยมีความโดดเด่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจไทยที่ผ่านมามักเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในเรื่องความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต่ำ ส่งผลให้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้น้อย ขาดการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ วิสาหกิจโดยเฉพาะกลุ่มขนาดย่อมและรายย่อยยังขาดการสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมีการจัดตั้งกิจการที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ การบันทึกบัญชีที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารและการผลิตมีน้อย และข้อจำกัดด้านภาษาต่างประเทศ


วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศสิงคโปร์มีความเข้มแข็งเนื่องจากสามารถสื่อสารได้หลายภาษา มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิต รวมถึงมีการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ แต่สิงคโปร์มีจุดอ่อนด้านอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูง

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศมาเลเซีย พบว่า ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ ยังมีต้นทุนการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลที่ต่ำกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของวิสาหกิจมาเลเซียในด้านอื่นๆ นั้น ไม่แตกต่างจากวิสาหกิจไทยมากนัก

การเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ฟิลิปปินส์มีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานมากถึง 50 ล้านคน นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่ยังสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี อย่างไรก็ตาม แรงงานที่มีทักษะและมีความสามารถมักไปทำงานในต่างประเทศหรือในองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้แรงงานที่ทำงานให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีทักษะที่ด้อยกว่า นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การบริหารงานรวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ยังมีอยู่น้อย

จุดแข็งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอินโดนีเซีย คือ มีแรงงานจำนวนมากและอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่ำกว่าของประเทศไทย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับไทย ขณะที่จุดอ่อนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่แตกต่างจากไทยมากนัก

วิสาหกิจในประเทศบรูไนดารุสซาลามได้เปรียบกว่าวิสาหกิจไทยในแง่ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศและต้นทุนในด้านพลังงานที่ต่ำกว่าไทย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานนั้นสูงกว่าไทยมาก เนื่องจากรัฐบาลได้นำระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์มาอิงเป็นพื้นฐานทำให้ค่าครองชีพต่างๆ สูง นอกจากนี้ ศักยภาพในการผลิตสินค้าจำนวนมากให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

การที่เวียดนามต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวเวียดนามมีความขยัน อดทน และมีความตื่นตัวในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเวียดนามให้ความสนใจในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ และเพียรพัฒนาทักษะตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ดี สินค้าที่ผลิตได้มาตรฐานยังมีน้อย ทั้งยังมีจุดอ่อนด้านการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ในประเทศสหภาพพม่า ต้นทุนในด้านค่าจ้างแรงงานปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในประเทศสหภาพพม่าประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน) ซึ่งนับเป็นจุดแข็งสำหรับวิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจในประเทศนี้ แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในประเทศยังไม่เพียงพอ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสหภาพพม่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

ในทำนองเดียวกับสหภาพพม่า ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใน สปป.ลาว อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางกำหนดอยู่ที่อัตรา 10,000 หรือประมาณ 1.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน) ปัญหาทั่วไปที่พบในวิสาหกิจลาว คือ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทักษะของวิสาหกิจในด้านต่างๆ ยังมีอยู่น้อย นอกจากนี้ การให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจของรัฐบาลสปป.ลาว ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจลาวยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

ในขณะที่จุดแข็งและจุดอ่อนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกัมพูชาเป็นไปในทำนองเดียวกับในสหภาพพม่าและใน สปป.ลาว เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน รัฐบาลกัมพูชาได้ปรับปรุงวิธีการทำบัญชีสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายขึ้น เพื่อให้สถาบันการเงินมีข้อมูลในการวิเคราะห์และอนุมัติให้สินเชื่อได้มากขึ้น

การเปิดเสรีด้านการค้า การบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ทำให้สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศต่างตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ในขณะที่การรวมกลุ่มทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับวิสาหกิจที่มีศักยภาพ ในอีกด้านหนึ่ง การแข่งขันย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น การเตรียมการเพื่อเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจึงหมายถึง การสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และขจัดปัญหาหรือแก้ไขจุดอ่อนในด้านต่างๆ ของวิสาหกิจให้มีน้อยลง ในการแข่งขันตลาดภายในประเทศของไทย นอกจากการเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ในอนาคตเมื่อวิสาหกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีศักยภาพมากขึ้นและมีต้นทุนต่ำกว่าไทย โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน จะกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญอีกด้านหนึ่ง

การมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีค่าจ้างแรงงานต่ำ รวมถึงการสร้างปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนนับเป็นสิ่งจูงใจนักลงทุน ซึ่งรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (กัมพูชา สปป.ลาว สหภาพพม่า และ เวียดนาม) หันมาให้ความสนใจและใช้เป็นเครื่องมือในการชักชวนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ปัจจัยสนับสนุนที่ประเทศเหล่านั้นมี ย่อมทำให้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยเริ่มลดลง ผลกระทบที่ตามมา คือ นักลงทุนรายเก่าอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเหล่านั้น ส่วนกลุ่มนักลงทุนรายใหม่อาจให้ความสนใจและเลือกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่แทน

เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สสว. เสนอรัฐบาลใหม่เพื่อพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

(1) ปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นวาระแห่งชาติ ผลักดันระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้โดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างเว็บท่าในการให้คำปรึกษาการดำเนินธุรกิจเพื่อลดความสับสนในการเข้ามาขอรับบริการจากภาครัฐ การจัดสรรงบประมาณหรือการทำแผนและโครงการควรใช้วิธีงบประมาณแบบต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายการส่งเสริมระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค และระหว่างหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

(2) พัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยให้เข้มแข็ง เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ควรกำหนดมาตรการที่จูงใจ เช่น การให้สิทธิพิเศษด้านภาษี การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การปรับลดค่าธรรมเนียมหรือค่าเบี้ยปรับ การกำหนดค่าเกณฑ์วัดที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมและรายย่อย เป็นต้น มาตรการเหล่านี้จูงใจให้เกิดวิสาหกิจรายใหม่ๆ ขณะเดียวกันยังจูงใจให้วิสาหกิจรายเดิมสนใจที่จะเข้าระบบโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาและส่งเสริมภาพลักษณ์ตราสินค้าของสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก และเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าไทยและสินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำจะช่วยให้การลอกเลียนแบบสินค้าไทยลดลง

(3) ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยขยายการค้าการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไทย และการได้รับโควต้าส่งสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน นับเป็นจุดเด่นของประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ที่ควรให้ความสนใจ การส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีศักยภาพและสนใจการขยายกิจการ หรือดำเนินธุรกิจใหม่ในกลุ่มประเทศเหล่านั้น ต้องจัดให้มีบริการข้อมูลด้านธุรกิจที่ควรลงทุนแก่วิสาหกิจไทย

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ควรสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคีในภาคเอกชนกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่มากขึ้น รวมถึงประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่แก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อให้การเจรจาและการสร้างสัมพันธภาพเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ การค้าชายแดน นับเป็นจุดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ ควรมีการพัฒนาการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจชายแดน ให้มีความพร้อมเพื่อส่งเสริมให้การค้าชายแดนมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น

(4) ส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นย่อมจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ดำเนินการไว้แล้ว เช่น การกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดในกลุ่มวิสาหกิจไทยได้ โครงการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่จะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ในกลุ่มที่เป็นผู้รับเหมาช่วงให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเพื่อให้ความเชื่อมโยงในการดำเนินธุรกิจกับบริษัทต่างชาติเป็นไปโดยราบรื่นและมีประสิทธิภาพ จัดให้มีการพัฒนาทักษะในด้านภาษาต่างประเทศให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการพัฒนาให้แรงงานไทยให้มีระเบียบวินัยในการทำงานมากขึ้น

##########################################

กำลังโหลดความคิดเห็น