สำหรับในช่วงฤดูร้อน อาหารแก้ร้อนได้ก็คงจะไม่พ้นเรื่องของไอศกรีม และถ้าเป็นร้านไอศกรีมธรรมดา ก็คงจะได้แค่ดับร้อน แต่สำหรับ ร้าน ICEDEA ไม่ใช่แค่ร้านขายไอศกรีม แต่เป็นร้านที่ขายงานดีไซน์ด้านอาหารที่เรียกว่า คนที่มากินไม่ได้แค่ดับร้อน แต่ยังได้สนุก และมีความสุขกับงานดีไซน์ไอศกรีมในรูปแบบต่างๆ
นางสาวพริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา เจ้าของร้าน เล่าว่า สำหรับร้าน ICEDEA เป็นร้านที่โชว์ผลงาน ice cream design ที่เคยออกแบบให้ลูกค้า นอกจากลูกค้าจะสามารถชมผลงานได้แล้ว ยังสามารถชิมผลงานที่สอดแทรกไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนที่มาที่ร้านได้รับประทานไอศกรีมและออกจากร้านไปพร้อมกับรอยยิ้ม จากรสชาติ หน้าตาสนุกๆ ของไอศกรีม ICEDEA
สำหรับลักษณะของไอศกรีมที่ร้าน เป็นไอศกรีมที่มีการสอดแทรกการออกแบบไอเดียกิมมิคต่างๆ เอาไว้ในไอศกรีม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติที่แปลกใหม่ หน้าตาของไอศกรีมมีไม่เหมือนใคร รวมไปถึงไอเดียของบรรจุภัณฑ์ และวิธีการรับประทาน ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปท์ของแต่ละเมนู
โดยไอศกรีมของทางร้านจะแบ่งออกเป็นคอลเล็กชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คอลเล็กชั่นขนมไทย เช่น ไอศกรีมตะโก้แห้วมะพร้่าวอ่อน ที่มีรสชาติเหมือนกับชั้นกะทิกับชั้นวุ้นใบเตยในตะโก้คละรวมกัน แล้วสอดแทรกด้วยมะพร้าวอ่อนและแห้วเพื่อเพิ่มความเหมือนและความน่าสนใจในเนื้อสัมผัสให้กับไอศกรีม, ไอศกรีมขนมสอดไส้ ที่มีกลิ่นควันเทียนเหมือนขนมสอดไส้จริงๆ ฯลฯ
คอลเล็กชั่นปาร์ตี้ เช่น ไอศครีม redbull extra ที่มีส่วนผสมของ redbull จริงๆ , ไอศกรีมบุหรี่ ซึ่งก็คือไอศกรีมกาแฟที่กินแล้วจะรู้สึกเหมือนมีควันบุหรี่ในคอ คล้ายๆ เวลาดื่มกาแฟพร้อกับสูบบุหรี่, ไอศกรีมเบียร์ คอลเล็กชั่นแปลกๆ เช่น ไอศกรีมปูผัดผงกะหรี่, ไอศกรีม global warming ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือไอศกรีม mint oreo choc chip
โดยการคละไอศกรีมกันระหว่างรสมินท์สีฟ้า เขียว เข้ากับไอศกรีมรสนมสีขาว เมื่อตักเป็นสกูปกลมๆ ไอศกรีมก็จะออกมาหน้าตาเหมือนลูกโลก เมื่อไอศกรีมละลายก็จะเริ่มดูเหมือนลูกโลกละลาย จากผลของ global warmingนอกจากนี้ คอลเล็กชั้นญี่ปุ่น เช่น ไอศกรีมขนมโตเกียวบานาน่า, ไอศกรีม Japanese Melon, ไอศกรีมวาซาบิ, ไอศกรีมซากูระลิ้นจี่ เป็นต้น
นางสาวพริมา เล่าว่า จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเปิดร้านเริ่มมาจากทำ ice cream designer ก็คือรับออกแบบและผลิตไอศกรีมให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของร้านลูกค้าหรืองานอีเวนท์ ทำมาได้นานพอสมควร ก็มีลูกค้าหลายคนอยากจะทดลองชิมหรือชมผลงานที่เคยออกแบบให้ลูกค้า แต่ปัญหาคือว่าลูกค้าต้องตระเวนไปชิมแต่ละที่ เพราะคอนเซ็ปท์และรสชาติไม่เหมือนกัน หรือถ้าเป็นไอศกรีมที่ทำให้กับงานอีเวนท์ ก็จะหมดแล้วหมดเลย ไม่สามารถจะชิมได้อีก จึงเกิดคิดทำเป็น ice cream showroom ขึ้นมาเพื่อรวบรวมผลงานที่เคยออกแบบทั้งหมดไว้ที่นี่ ทั้งในส่วนของรสชาติที่มีให้ชิม และตัวอย่างผลงานที่เคยออกแบบไว้ด้วย
โดยแนวคิดในการออกแบบไอศกรีม อย่างแรกออกแบบตามโจทย์ของลูกค้า และอย่างที่สองจะเป็นการออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จนถึง First Jobber ประมาณ 29 ปี ถ้าเป็นที่หอศิลป์ก็จะเป็นชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวเมืองไทย ชอบอะไรแปลกใหม่ และงานศิลปะ
ปัจจุบันมีร้านเพียงแห่งเดียวที่หอศิลป์ชั้น 4 หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงข้ามมาบุญครอง แต่ถ้าเป็นร้านชั่วคราวก็จะมีไปออกบูธที่ห้างต่างๆ ตามงานอีเวนท์ของทางห้าง ฯลฯ ซึ่งในส่วนของร้านแรกที่หอศิลป์เปิดให้บริการมาได้ประมาณ 1 ปี แต่ก่อนหน้านี้ในส่วนของ ice cream design service เปิดอย่างจริงจังมาได้ประมาณ 4 ปี ตอนนี้กำลังจะเปิดสาขาใหม่ที่เชียงใหม่ และที่เซ็นทรัล ลาดพร้าวเร็วๆ นี้
ที่ผ่านมามีการออกแบบไอศกรีมมาจำนวนมาก เรียกว่านับไม่ถ้วน ส่วนรสชาติก็อยู่ที่เป็นร้อยรสชาติ ซึ่งทุกครั้งที่มีการออกแบบไอศกรีมตัวใหม่ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี มีคนให้ความสนใจค่อนข้างมาก รูปแบบไอศกรีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา เป็นรสไอศกรีม รสยาคูลท์ปีโป้และรส Global Warming แต่ถ้าเป็นหน้าตาแปลกๆ จะเป็นไอศกรีมทงคัตสึ ถ้าเป็นขนมหน้าตาแปลกๆ จะเป็นบราวนีย์สนามหญ้า”
สำหรับราคาไอศกรีมเริ่มต้นทีสกูปละ 65 บาท แบบเซ็ทเมนูจะเริ่มตั้งแต่ 120 บาทขึ้นไปจนถึง 160 บาท ซึ่งข้อดีของการทำไอศกรีมแนวดีไซน์ ช่วยให้เกิดเอกลักษณ์และข้อแตกต่างที่โดดเด่นและน่าสนใจแตกต่างจากไอศกรีมทั่วไป อีกทั้งการออกแบบยังช่วยให้ไอศกรีมที่ได้รับการออกแบบโดนใจผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นหากออกแบบโดยอ้างอิงจากพฤติกรรมผู้บริโภค ก็จะเกิดเป็นไอศกรีมรูปแบบใหม่ แตกต่าง และตรงใจผู้บริโภค
@@@@@@@@@@
โทร. 02- 331 -1741-51 info@icedea.com www.facebook.com/icedea