xs
xsm
sm
md
lg

เก็บขยะธรรมชาติ เนรมิตเฟอร์นิเจอร์ “รากไม้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รากไม้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี จากเดิมถูกเผาทิ้ง และไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์อะไร จนกระทั่งเมื่อไม้เริ่มหายาก รากไม้ที่ถูกตัดและทิ้งมานานกว่า 20 ปี ก็ถูกขุดขึ้นมา เพื่อนำมาสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ ที่ยังคงรูปลักษณ์ตามธรรมชาติของรากไม้ เอาใจคนชื่นชอบงานออกแบบสไตล์ธรรมชาติ

นายกนกวุฒิ โกมลวิภาค เจ้าของเฟอร์นิเจอร์รากไม้ โอทอปจังหวัดพิจิตร เล่าว่า ที่ตำบลโนนมะกอก อำเภอบางมูลนาค จังหวัดพิจิตร มีตอไม้อยู่เป็นจำนวนมาก และตอไม้เหล่านี้ ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร แต่ในระยะหลังการตัดไม้ลำบากขึ้น จึงได้เกิดความคิดขุดตอไม้เหล่านี้ ขึ้นมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ประกอบกับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้เปลี่ยนไป บวกกับรสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย ทำให้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยยังคงลักษณะตามธรรมชาติของไม้ ไว้ได้มากที่สุด จะยิ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้า ในขณะที่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์รากไม้สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้

สำหรับเฟอร์นิเจอร์รากไม้ ของจังหวัดพิจิตร มีการทำกันหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ไม้ในท้องถิ่น โดยไม้ที่เลือกใช้มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ ไม้กันเกรา ไม้สัก และไม้มะค่า ราคาแตกต่างกันตามชนิดของไม้ ไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ไม้กันเกรา เพราะเป็นไม้มงคลหนึ่งใน 9 ชนิด และยังเป็นไม้แห่งภราดรภาพ ตามความเชื่อ ที่ว่าเป็นสื่อศีลธรรม ความเท่าเทียมกันในสิทธิมนุษย์ชนทุกชนเผ่า

ในขณะที่ไม้สัก จัดเป็นไม้ที่เริ่มหายากมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อราคาเช่นกัน ปัจจุบันรากไม้ที่ยังพอจะหาได้จะเป็นไม้มะค่า แต่ความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ยังต้องการไม้มงคลอย่างไม้กันเกรามากกว่า ไม้สัก หรือไม้มะค่า ทำให้ราคาไม้กันเกราจะสูงมาก โดยขนาดของรากไม้จะขึ้นอยู่กับอายุของไม้ ซึ่งรากไม้ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี บางต้นขนาดของรากไม้จะมีขนาดกว้างถึงเกือบ 2 เมตร

ส่วนแหล่งของไม้ยังสามารถหาได้ในหมู่บ้าน การนำรากไม้ขึ้นมาในแบบที่ให้สมบูรณ์ที่สุดจะต้องใช้แรงงานคนค่อยขุดขึ้นมา บางครั้งต้องใช้เวลานานถึง 10 วัน ในการขุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หลังจากได้รากไม้มาแล้ว จึงจะสามารถออกแบบได้ว่าจะทำออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ในแบบใดได้บ้าง โดยที่ยังคงรูปลักษณ์ตามธรรมชาติของรากไม้อยู่

"เนื่องจากรากไม้จะเป็นศิลปะเฉพาะตัวของแต่ละต้น แต่ละชิ้น ซึ่งเมื่อนำมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ จะมีเอกลักษณ์ลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่สามารถทำเลียนกันได้ จึงจัดเป็นงานศิลปะชิ้นเดียวในโลก ที่หลายคนอยากจะได้เป็นเจ้าของ แม้ว่าบางครั้งจะราคาแพงก็ตาม และด้วยเหตุที่รากไม้แต่ละต้นที่ออกมาไม่เหมือนกัน ทำให้หลายครั้งเราไม่สามารถออกแบบหรือคิดแบบขึ้นมาก่อนจะขุดรากไม้ขึ้นมาได้"

โดยแบบของเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถออกแบบจากรากไม้ ทำออกมาได้ไม่มาก ปัจจุบันนิยมทำกัน เป็นชุดโต๊ะ เก้าอี้ ภายในและภายนอกอาคาร เคาน์เตอร์อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ กลุ่มลูกค้า เป็นคนทั่วไปที่ชื่นชอบงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ในแบบแปลกใหม่ ราคาเริ่มต้นหลักพันบาท ไปจนถึสูงสุดหลักแสนบาท แต่ชิ้นงานทั่วๆไป จะราคาในหลักพันบาท และหลักหมื่นบาท สินค้าของเราจะราคาค่อนข้างสูงกว่า รายอื่นๆ เพราะให้ความสำคัญกับการเลือกรากไม้ และ ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการทำงานจะใช้ช่างเฟอร์นิเจอร์ชาวบ้าน ที่มีชำนาญ โดยเฉพาะ

นายกนกวุฒิ เล่าว่า ผมเริ่มเข้ามาทำธุรกิจตรงนี้ได้ประมาณ 1 ปี โดยรวมกลุ่มผู้ผลิตในหมู่บ้านที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว มารวมตัวกันเป็นกลุ่มโอทอป ใช้ช่องทางการขายเปิดขายหน้าร้านในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยลูกค้ามาจากข้าราชการในพื้นที่ และเกิดจากการบอกกันแบบปากต่อปาก และเนื่องจากการเปิดขายหน้าร้านในพื้นที่อย่างเดียว จะได้ลูกค้าในกลุ่มที่แคบมาก และลูกค้าที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น ปีนี้ จึงเป็นปีแรกที่เราหันมาทำตลาดในกรุงเทพฯผ่านงานแสดงสินค้า

ในส่วนของยอดขายต่อเดือนในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2-3 ชิ้น รายได้เพียงพอให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน ที่มีอาชีพทำนา เมื่อเจอตอไม้ในพื้นที่ รู้ว่าขายได้จะขุดมาขาย หรือบางคนมีฝีมือด้านงานเฟอร์นิเจอร์ รับทำงานตรงนี้ ส่วนงานออกแบบนั้นที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือด้านงานออกแบบจากสถาบันการศึกษา อาจารย์ และนักศึกษา เข้ามาช่วยเหลือด้านงานออกแบบด้วย

ส่วนการแข่งขันของเฟอร์นิเจอร์รากไม้ มีผู้ผลิตหลายราย แต่ละรายจะมีรูปแบบฝีมือและการเลือกไม้ที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าชื่นชอบและหันมาซื้อเฟอร์นิเจอร์แนวนี้กันมาก เพราะสามารถใช้งานได้นาน และยิ่งเก็บนานก็ยิ่งมีคุณค่า เพราะไม้ที่มีคุณค่าและมีอายุเป็นหลักร้อยปี เป็นสิ่งที่หายากในปัจจุบัน และใครที่พอมีเงินก็ต้องการจะมีไว้ครอบครอง ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกลุ่มนักสะสม ถ้ารากไม้อันไหนสวยๆ ยิ่งราคาแพง

โทร. 08-1840-0258

เคาน์เตอร์ทำจากไม้กันเกรา ไม้มงคล

รากไม้มะค่าอายุกว่า 100 ปีขนาดลำต้นกว้าง1.7 เมตร

นายกนกวุฒิ โกมลวิภาค เจ้าของ

กำลังโหลดความคิดเห็น