xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒนาธุรกิจฯ เร่งผลักดัน กม.แฟรนไชส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาธุรกิจ เร่งผลักดัน กม.แฟรนไชส์ เพื่อจัดระเบียบธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและขายแฟรนไชส์ให้มีความชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน ช่วยธุรกิจแฟรนไชส์เติบโต ชี้ยังมีประเด็นปลีกย่อยที่ต้องหารือร่วมกันต่อไป

นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า จากการที่กรมฯ ได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. .... โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ และผู้สนใจทั่วไป ร่วมกันหาข้อสรุปในการผลักดันกฎหมายแฟรนไชส์ให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุดกับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ (แฟรนไช ซอร์) และผู้ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชซี)

สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบธุรกิจ แฟรนไชส์ในประเทศไทยให้เป็นระบบ ซึ่งผู้ซื้อและเจ้าของแฟรนไชส์ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน ภายในระยะเวลา 180 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ รวมทั้งกำกับดูแลไม่ให้มีการโฆษณาที่เกินกว่าความเป็นจริง สัญญาต้องมีความเป็นธรรม และยังคงให้ความสำคัญในการคุ้มครองแฟรนไชซี มากกว่าแฟรนไชซอร์ เช่น กำหนดให้แฟรนไชซอร์ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ ห้ามเรียกเงินมัดจำค่าตอบแทนก่อนทำสัญญา มีคู่มือประกอบธุรกิจที่ชัดเจน และห้ามไม่ให้มีการบังคับเช่าหรือเช่าซื้ออุปกรณ์ สินค้าหรือบริการจากแฟรนไชซี เป็นต้น

ในส่วนของกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแฟรนไชซอร์ ได้แก่ ห้ามเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่ได้รับสิทธิมาจากแฟรนไชซอร์ ซึ่งกรมฯ สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดและลงโทษบุคคลตามที่กำหนดในกฎหมายฉบับนี้ได้ถือเป็นบทบัญญัติให้คุ้มครองทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม จากการระดมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มีหลายประเด็นที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์ ขอให้มีการนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดความกังวลที่อาจเป็นการจำกัดความเติบโตของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดแรงจูงใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับธุรกิจ

การกำหนดบทบัญญัติให้ความคุ้มครองเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ทำธุรกิจแข่งกับเจ้าของแฟรนไชส์ และดำเนินกิจการที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้ง บทบัญญัติที่ยกเว้นไม่คุ้มครองผู้ซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เป็นต้น

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่นำเสนอเพื่อให้กรมฯ พิจาณาปรับปรุงต่างๆ ล้วนแต่เป็นประเด็นปลีกย่อย ที่คิดว่าสามารถร่วมกันหาข้อสรุปได้ เพราะทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่ารัฐควรผลักดันกฎหมายแฟรนไชส์ออกมากำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้ ทั้งนี้ กรมจะจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อนำประเด็นที่ได้จากการสัมมนาระดมความคิดเห็นมาประมวล พิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ... ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น