xs
xsm
sm
md
lg

แฟรนไชส์ไทยโตสวนกระแสเศรษฐกิจ ห่วงปัจจัยการเมืองกระทบยอดขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูรูด้านแฟรนไชส์ไทย ชี้ธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีโอกาสเติบโตอย่างมากสวนกระแสเศรษฐกิจ หวั่นปัจจัยการเมืองฉุดภาพรวมทรุด เผยสัดส่วนแฟรนไชส์ล้มเหลวปี 53 เพียง 12% ลดลงจากปีที่แล้วเกือบครึ่ง เชื่อเป็นสัญญาณคนไทยเข้าใจระบบแฟรนไชส์ดีขึ้น มั่นใจธุรกิจอาหารยังมาแรงเติบโตต่อเนื่อง

นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์แฟรนไชส์ปี 2554 ว่า ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี และกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ซบเซามีเพียงปัจจัยเดียวคือ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจแฟรนไชส์กลับเติบโตสวนทาง เนื่องจากผู้ลงทุนเชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์แทนได้

สำหรับสภาวะธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในปัจจุบัน พบว่า ขนาดธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2553 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีความแข้มแข็งและมีผลประกอบการดี มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 161,016 กว่าล้านบาท (ทั้งนี้เน้นธุรกิจที่ประกาศขายหรือดำเนินงานในธุรกิจแฟรนไชส์จริงๆ ไม่นับรวมธุรกิจที่เป็นการลงทุนจากการซื้อแฟรนไชส์เข้ามาในประเทศไทย และไม่ได้ทำตลาดด้านแฟรนไชส์ เช่น กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ที่เป็นระบบ chain เป็นต้น) ซึ่งจำนวนสาขาในระบบแฟรนไชส์มีสาขารวมทั้งสิ้น 26,922 ร้านสาขา จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 570 บริษัท ประกอบด้วยธุรกิจที่เป็นแฟรนไชส์ 514 ซึ่งระยะเวลาของธุรกิจในการก่อตั้ง พบว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจนั้นมีระยะเวลามากกว่า 5 ปี

ในขณะที่อัตราการออกจากระบบแฟรนไชส์ (rate of exit) ที่สูง จากค่าเฉลี่ยการล้มเหลวจากปี 2542 ถึงปัจจุบันนั้นมีอัตราการล้มเหลวของธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ที่ 23.41% อย่างไรก็ตามอัตราการล้มเหลวของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง จากสำรวจปี 2553 มีการประมาณการสัดส่วนของการออกจากตลาดหรือล้มเหลวอยู่ที่ 12.79%

ส่วนการวิเคราะห์พฤติกรรมการตัดสินใจในการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ของคนไทย พบว่า ผู้สนใจในการลงทุนแฟรนไชส์นั้นเป็นเพศหญิง 53.4% และเพศชาย 46.6% โดยอายุเฉลี่ยของผู้สนใจลงทุน พบว่า ผู้สนใจในธุรกิจแฟรนไชส์มีอายุระหว่าง 31-61 ปี ถึง 73% และเฉพาะกลุ่มอายุระหว่าง 31-40 ปีมากที่สุดคือ 39.9% แต่กลุ่มอายุระหว่าง 20-31 ปี มีสัดส่วน 26.6% ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานบริษัทสูงสุด 48.6% และเป็นกลุ่มที่มีธุรกิจของตนเอง เช่น การค้าขายทั่วไปถึง 26.7% ที่มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 40,000 บาท ประมาณ 40% และน้อยกว่า 46,000 บาท ประมาณ 60%

“แนวโน้มการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์มีสูงขึ้น ซึ่งผู้สนใจส่วนใหญ่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ต่ำกว่า 500,000 บาท ถึง 52.8% และผู้ที่ต้องการลงทุนระหว่าง 1-1.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 35.4% และต้องการลงทุนมากกว่า 1.5 ล้านบาทมีประมาณ 11% โดยมีสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ด้านธุรกิจอาหารประมาณ 22.6% รองลงมาคือประเภทธุรกิจเครื่องดื่ม 20.7% และธุรกิจของว่าง, เบเกอรี่ 16.4% ในขณะที่ธุรกิจหนังสือ และวิดีโอ มีผู้สนใจลงทุนน้อยที่สุดเพียง 1.6% เท่านั้น” นายพีระพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น