xs
xsm
sm
md
lg

เผยพฤติกรรมเลือก ร.ร.พ่อแม่ยึดคุณภาพ-ฐานะครอบครัวเป็นหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลวิเคราะห์พฤติกรรมเลือกเรียนโรงเรียน ชี้พ่อแม่ยึดคุณภาพโรงเรียน และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว  ขณะที่ครอบครัวในชนบทมีฐานะนิยมให้ลูกเรียน ร.ร.เอกชน เพราะมีคุณภาพกว่า ร.ร.รัฐ  ส่วนครอบครัวในเมืองเน้นดูคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก 
               
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินผลคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ทำการประเมินผลคุณภาพสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาในปี 2551 ซึ่งระบุว่า สถานศึกษาที่บริหารโดยเอกชนนั้นดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่ สมศ.กำหนด ร้อยละ 49 ขณะที่สถานศึกษาของรัฐได้มาตรฐาน ร้อยละ 35 ดังนั้น ตน และ ดร.อนุวัฒน์ ชลไพศาล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธบ.จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกโรงเรียนในประเทศไทย
               
จากการวิเคราะห์ พบว่า สถานศึกษาของรัฐที่ผ่านเกณฑ์ สมศ.ส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ขณะที่เรื่องคุณภาพการศึกษาระหว่างรัฐและเอกชนนั้น จะพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยโรงเรียนเอกชน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีมาก ดี และปานกลาง ส่วนโรงเรียนของรัฐ อยู่ในระดับดีมาก และต่ำสุด จุดนี้คุณภาพของโรงเรียนมีผลต่อการส่งเสริมพัฒนาความสามารถ คุณภาพของเด็ก ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมพฤติกรรมการเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง
               
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพราะฉะนั้นฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเลือกโรงเรียน ด้วยจากการศึกษาพฤติกรรมการเลือกโรงเรียนของประเทศไทย ระหว่างครอบครัวในชนบทและในเมือง พบว่าแตกต่างกัน ในชนบทฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว มีผลอย่างมากต่อการเลือกโรงเรียน คือ นักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะดี ส่วนใหญ่จะเลือกเรียนในสถานศึกษาของเอกชนมากกว่าสถานศึกษาของรัฐ และสาเหตุที่ส่งเข้าเรียนสถานศึกษาเอกชน เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่มองว่าสถานศึกษาเอกชนในชนบทมีการจัดการเรียนการสอน มีคุณภาพมากกว่าสถานศึกษาของรัฐ ส่วนพฤติกรรมการเลือกโรงเรียนของครอบครัวในเมือง ฐานะทางเศรษฐกิจมีผลน้อยมากต่อการตัดสินใจ แต่จะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่า เนื่องจากในเมืองการจัดการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนรัฐ และเอกชน ไม่แตกต่างกันมาก หากครอบครัวไหนมีฐานะดี อาจมีโอกาสในการเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพดีๆ มากกว่า ดังนั้น โรงเรียนของเอกชน และรัฐต้องแข่งขันกันด้วยเรื่องของคุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น