จากพนักงานบัญชี ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมานานกว่า 20 ปี ตัดสินใจนำเงินเก็บทั้งหมด หันเหชีวิตสู่ผู้ประกอบการ เริ่มจากธุรกิจการทำของว่างระหว่างการประชุมสัมมนา ขายชิ้นส่วนรถยนต์ และล่าสุดได้พลิกผืนดิน 200 ตารางวา สู่ฟาร์มผักไฮโดรโปรนิกส์ หวังยึดธุรกิจฟาร์มผักสร้างความสุขที่ได้อยู่กับต้นไม้ และผักสีเขียว ในบั้นปลายชีวิต
ชัยยุทธ สุทธิโยธา เจ้าของ Jone's salad Farm เล่าว่า ตนเองใช้เวลากว่า 20 ปี ในการเป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายรับที่แน่นอน ไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกให้ออกจากงาน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลดความมั่นคงในชีวิต แลกกับความเป็นอิสระในการทำงาน ด้วยการเป็นผู้ประกอบการ ที่ทุกเดือนต้องบริหารจัดการธุรกิจด้านอาหารว่างสำหรับการจัดเลี้ยง และการขายชิ้นส่วนรถยนต์ให้มีรายได้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในแต่ละเดือน ซึ่งถือเป็นความท้าทายอดีตมนุษย์เงินเดือน
ต่อมาได้มีความคิดที่จะเพิ่มค่าให้แก่ผืนดินขนาด 200 ตารางวา ให้เกิดประโยชน์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตัดสินใจทำธุรกิจอยู่ 2 อย่าง ระหว่าง การสร้างอพาร์ทเม้นต์ หรือ การทำฟาร์มผักไฮโดรโปรนิกส์ ที่ตนเองเคยเข้ารับการฝึกอบรมขั้นตอนการปลูกผักชนิดนี้เมื่อหลายปีก่อน กับเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง แต่เมื่อคิดอย่างรอบคอบแล้ว ก็ตัดสินใจสร้างมูลค่าให้กับที่ดินที่ตนเองมีอยู่ด้วยการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพราะคิดว่าหากสร้างอพาร์ทเม้นต์ ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ซึ่งนับวันก็ต้องซ่อมแซม และเก่าทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ รวมถึงผู้พักอาศัยก็ต้องย้ายออกไปเพื่อไปอยู่อพาร์ทเม้นต์ที่มีความใหม่กว่า แต่ในขณะที่การปลูกผักใช้เงินลงทุนน้อย และเมื่ออุปกรณ์การปลูกเก่าก็สามารถเปลี่ยนใหม่ โดยใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก
“ในช่วงเริ่มต้นการทำธุรกิจดังกล่าวในปีแรก ถือเป็นการทำความรู้จักทำธรรมชาติของผักไฮโดรโปรนิกส์ จากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผักในทุกสภาวะอากาศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุด หรืออากาศเย็น รวมถึงช่วงฤดูฝนที่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะมีปัญหามากที่สุด จากอากาศที่มีความชื้นสูง ส่งผลให้ผักติดเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งการดูแลผักที่ต้องปลูกในเมืองหนาว แต่นำมาปลูกในเมืองร้อน คงหนีปัญหาเหล่านี้ไม่พ้น ซึ่งเราต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เสมอ”
หลังจากการเรียนรู้วงจรชีวิตของผักไฮโดรโปนิกส์ ทุกสภาวะอากาศ นายชัยยุทธ จึงตัดสินใจทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยให้ข้อคิดว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ต้องปลูกให้ “เป็น” ก่อน การหา “ตลาด” เพราะที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะคิดเรื่องหาตลาดก่อน เพราะมั่นใจว่าตนเองปลูกผักได้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักผักในทุกสภาพอากาศอย่างถ่องแท้ ส่งผลให้เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลใหม่อาจไม่มีผักส่งให้ลูกค้า และผู้ประกอบการก็จะขาดความไว้วางใจ
“ผักไฮโดรโปนิกส์นั้น เป็นการปลูกพืชอายุสั้นเพียง 45 วัน (ตั้งแต่การเพาะเมล็ดถึงการนำไปรับประทาน) หากเกิดปัญหาขึ้นผู้ปลูกก็ต้องตัดใจทิ้งทั้งต้น เพราะจะรอให้กลับฟื้นขึ้นใหม่จะยากมาก หรือหากผักมีเชื้อราก็ต้องทิ้งทั้งต้น เพราะถ้าเก็บไว้เชื้อราอาจแพร่กระจายทั้งแปลงปลูกได้ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง แต่เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของผักชนิดนี้ความเสียหายก็ลดน้อยลง”
ปัจจุบันร้าน Jone's Salad Farm ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ประมาณ 6 ชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ก, เรดโอ๊ก, บัตเตอร์เฮด, คอส ,ฟิลเลไอซ์เบิร์ก และเรดคอรัล เน้นขายที่หน้าฟาร์ม โดยลูกค้า
ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในละแวกซอยรามอินทรา 39 และการส่งจำหน่ายให้กับร้านอาหาร โดยขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาททุกฤดูกาล ซึ่งลูกค้าก็ให้การตอบรับดีเพราะสามารถเข้ามาเลือกซื้อผักที่ยังมีชีวิต จากในฟาร์มได้ทุกต้น และคาดว่าในอนาคตลูกค้าจะให้กการตอบรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกระแสคนรักสุขภาพมากขึ้น
***สนใจติดต่อ ซอยรามอินทรา 39 เลขที่ 44/70 ถ.สุขาภิบาล 5 ซอย 5 แยก 1 ถ.รามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขต กรุงเทพฯ โทร. 0-2973-1489***