xs
xsm
sm
md
lg

“โหนดทิ้ง” หัตถกรรมเส้นใยตาล เพิ่มค่าใส่ภูมิปัญญาชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระเป๋ารูปแบบต่างๆ ที่ได้จากการทอเส้นใยตาล
ตาลไม้ยืนต้น ที่มีการปลูกกันมากในหลายพื้นที่ และด้วยคุณสมบัติพิเศษในทุกส่วนของต้นตาล ทำให้มีการนำหลายๆ ส่วน ทั้งผล กิ่ง ก้าน ใบ เปลือก ลำต้น และอื่นๆ มาทำเป็นของใช้ในรูปแบบต่างๆ ตามแนวคิดของภูมิปัญญาชาวบ้าน

สำหรับผลิตภัณฑ์ใยตาลแปรรูป เป็นส่วนหนึ่งของการนำส่วนของตาลมาแปรรูปในรูปแบบของงานหัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นของใช้ เช่น หมวก กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์ จุดเด่นของเส้นใยตาล ต่างจากเส้นใยอื่นๆ เพราะมีความเหนียว ไม่ฉีกขาดได้ง่าย เมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความแข็งแรงทนทาน

นางเสิญศิริ หนูเพชร เจ้าของผลงาน
นางเสิญศิริ หนูเพชร เจ้าของผลิตภัณฑ์ใยตาลแปรรูป กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านบ่อใหม่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เล่าว่า ตนเองได้เป็นผู้คิดค้นการนำเส้นใยตาลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเริ่มคิดและทดลองทำมาตั้งแต่ปี 2521 แต่เนื่องจากในช่วงนั้นงานหัตถกรรมไม่ได้รับการส่งเสริมเหมือนในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีตลาด จึงหยุดทำไป และหันกลับมาทำอีกครั้ง เมื่อปี 2527 มีหน่วยงานของรัฐมาช่วยส่งเสริมในเรื่องของการผลิต แต่ตลาดก็ยังไม่มี ทำให้ต้องหยุดทำไปอีกครั้ง และเริ่มกลับมาทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมงานหัตถกรรมชุมชน หรือ โอทอป
รูปแบบงานทอก่อนนำมาแปรรูป
โดยหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเรื่องของการผลิต และการออกแบบ รวมถึงการส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ไปร่วมออกงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้สินค้าของเราขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว และเนื่องจากงานหัตถกรรมเส้นใยตาลในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีใครทำมาก่อน กลุ่มหัตถกรรมใยตาลของอำเภอสทิงพระ จึงเป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวในขณะนี้

"ในส่วนของการผลิตได้รับการช่วยเหลือหน่วยงานรัฐ เข้ามาช่วยเรื่องของการผลิตในรูปแบบของงานทอ ซึ่งเป็นการทอในลักษณะของเส้นใยผ้าผสมกับเส้นใยตาล ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 10 เครื่องเป็นงบขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่เดิมในอดีตที่ไม่มีเครื่องทอ เราใช้วิธีการถักเส้นใยตาล ซึ่งมีปัญหาเรื่องของการออกแบบที่ไม่สามารถออกมาได้หลากหลาย และปัญหาของการถักนั้นทำได้ช้ามาก ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำงานแต่ละชิ้นนานมาก ส่งผลไม่สามารถรับออร์เดอร์การสั่งซื้อครั้งละมากๆ ได้ และเมื่องานทำออกมาได้ยากลำบากราคาก็จะสูงตาม"
ที่แขวนผ้าเช็ดมือ ทำจากส่วนของตาลเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีการทอ ด้วยเครื่องทอทำให้สามารถทำงานออกมาได้เร็ว และออกแบบตามที่ต้องการได้ ในส่วนของรูปแบบปัจจุบัน นอกจากหน่วยงานรัฐมาช่วยเหลือ ทางกลุ่มเองเมื่อได้ไปออกงานแสดงสินค้าดูรูปแบบของวัสดุอื่น หรือ ทดลองทำตามแบบกระเป๋าแบรนด์เนม ที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด ลองกลับมาทำโดยใช้เส้นใยตาล เพื่อให้งานออกมาเข้ากับยุคสมัยลูกค้าก็จะกล้าซื้อไปถือ และเสน่ห์ของงานหัตถกรรมเส้นใยธรรมชาติมีอยู่แล้ว จึงดึงดูดลูกค้าในกลุ่มวัยทำงาน และคนสูงอายุได้ไม่ยาก

หลังจากได้เริ่มกลับมาทำใหม่อีกครั้ง และสินค้าเริ่มขายได้มากขึ้น มีการกระจายงานให้กับชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงได้มีงานทำ โดยในช่วงที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2527 ได้เริ่มสอนให้กับชาวบ้านที่สนใจ เพราะในพื้นที่มีต้นตาลอยู่เป็นจำนวนมาก วัสดุจึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อสามารถหาได้ในชุมชน ดังนั้น ชิ้นงานที่ชาวบ้านทำออกมาจะเป็นค่าแรง และวัสดุประกอบเป็นหลัก
กระเป๋าดีไซน์เพื่อเอาใจวัยทำงานต้นๆ
ส่วนราคาของงานหัตถกรรมเส้นใยตาล เริ่มต้นที่ 60 บาท ไปจนถึง 1,500 บาท ส่วนเฟอร์นิเจอร์ ราคาก็จะสูง เป็นหลักพันบาท ถึงหลายพันบาท ราคาจะสูงกว่าหัตถกรรมจากเส้นใยอื่นๆ อาทิ กระจูด หรือ ผักตบชวา เพราะเส้นใยตาลจะมีความแข็งและทนทาน สามารถใช้งานได้นานกว่า ราคาจึงสูงกว่า และข้อดีของเส้นใยตาลอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่เป็นเชื้อรา ทำให้หลายประเทศอนุญาตให้สามารถนำสินค้าเข้าไปขายได้ ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มหัตถกรรมเส้นใยตาลแปรรูป ได้มีการส่งสินค้าไปขายในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรีย ฯลฯ

ช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้ได้รับการส่งเสริมด้านการตลาดจากหน่วยงานของภาครัฐ ในการให้ร่วมออกบูทแสดงสินค้า และหลังจากออกงานทำให้มีลูกค้าประจำที่มารับไปจำหน่าย รวมถึงลูกค้าในต่างประเทศ ที่มาสั่งทำตามแบบที่ต้องการจะนำไปติดแบรนด์ของตนเอง ส่วนแบรนด์ของเราที่ขายในปัจจุบันใช้แบรนด์ “โหนดทิ้ง” โหนดมาจากภาษาไทย แปลว่าต้นตาลโตนด ส่วนทิ้ง คือ เป็นของเหลือทิ้งไม่มีมูลค่า แต่เรานำมาเพิ่มมูลค่าได้


ปัจจุบันสมาชิกมีอยู่ด้วยกัน 21 คน รายได้ เริ่มต้นที่ 3,000 บาทถึง 6,000 บาท ต่อเดือน แล้วต่อยอดการสั่งซื้อของแต่ละเดือน ส่วนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา กระทบยอดขายทำให้ยอดขายลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่มาก ซึ่งใช้วิธีการปรับตัวโดยปรับลดราคาลงมา เพื่อให้สามารถขายได้ ปัจจุบันสินค้าราคาแพงมากลูกค้าไม่ซื้อ ต่างจากในอดีตที่ลูกค้ามีกำลังซื้อมากกว่านี้ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาแพง
กระเป๋ารูปแบบงานถักมือแบบอดีต
สำหรับงานหัตถกรรมจากเส้นใยตาล เป็นเสน่ห์งานหัตถกรรมไทย ที่สามารถครองใจคนไทยและต่างชาติได้ ด้วยรูปลักษณ์และความเป็นธรรมชาติ ที่ตอบรับกระแสการลดโลกร้อนที่รุนแรงในขณะนี้ได้

โทร. 074-397-459,08-6741-1667
กำลังโหลดความคิดเห็น