xs
xsm
sm
md
lg

หลินปิง...อุ้มได้ จ่าย (แค่) 5 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



 
     “ถ้าเปรียบ 'หลินปิง' เป็นแบรนด์ ตอนนี้ก็เป็นแบรนด์ที่ติดตลาดแล้ว”

     ความเห็นที่รวบรัดสั้นกระชับจากนักการเงินอย่าง สฤนี อาชวานันทกุล ย่อมไม่เกินเลยความจริงแม้แต่น้อย เพราะหากไม่ 'ติดตลาด' จริงดังว่า หาไม่ เจ้าแพนด้าตัวอ้วนกลมตัวนี้ คงไม่มีค่าตัวพุ่งสูงถึง 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการได้มีสิทธิ์สัมผัสใกล้ชิด...สักครั้งหนึ่งในชีวิต

อานิสงส์เงินล้าน

     ในแง่มุมหนึ่ง เงินจำนวนดังกล่าวย่อมนับว่ามากโขเกินกว่าที่คนธรรมดาจะยอมจ่ายเพื่อให้ได้อุ้มเจ้า 'แพนด้าน้อย' แม้ว่าทุกครั้งที่ได้เห็นจะรู้สึกอยากกอดสัมผัสใกล้ชิดสักเพียงไร แต่ถ้าให้ยอมจ่ายถึง 5 ล้านบาท...ใครบ้างจะกล้าทุ่มถึงขนาดนั้น
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อ ประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าแห่งประเทศไทย เผยต่อสื่อมวลชน ว่า มีอาม่าท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ เสนอขอมอบเงินบริจาคให้แก่ทางสวนสัตว์เป็นจำนวนสูงถึง 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการให้หลานของอาม่าได้อุ้มหลินปิง

     เมื่อเราสอบถามไปยังหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ผู้นี้ ก็ได้รับการขยายความว่า เงิน 5 ล้านบาทที่ได้รับจากการบริจาคจะสามารถนำมาเป็นทุนสำหรับการพัฒนาวิจัยหมีแพนด้า

     “วันหนึ่งข้างหน้าเราก็สามารถสร้างศูนย์ถาวรสำหรับการวิจัยศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของหมีแพนด้าได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ เงินบริจาคผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โครงการหลินปิงช่วยช้างที่ท่านผู้อำนวยการสวนสัตว์ฯ ริเริ่มขึ้น ก็จะสามารถนำเงินไปช่วยเหลือช้างเร่ร่อนด้วย”


รักได้ ใคร่จ่าย
เงิน 5 ล้าน จากหลายแง่มุม

     เหล่านี้ล้วนเป็นแง่มุมดีๆ จากเงิน 5 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนช่วยยกระดับศูนย์วิจัยให้สามารถพัฒนา ศึกษาค้นคว้าชีวิตแพนด้าได้อย่างเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น หรือความตั้งใจว่าจะนำรายได้จากการบริจาคไปช่วยเหลือช้างเร่ร่อนให้อยู่ดีมีสุข แต่ไม่ว่าอย่างไร ข่าวคราวการบริจาคเงิน 5 ล้านบาทของอาม่าให้แก่สวนสัตว์เชียงใหม่แล้วได้รับการพิจารณายินยอมจากทางสวนสัตว์ ก็ถือเป็นเรื่องที่สร้างความกังขา เคลือบแคลงให้แก่คนในสังคมไม่น้อย

     ทำนองว่า...ถ้าไม่รวย ก็ไม่มีสิทธิ์กอดหลินปิงงั้นหรือ? บ้างก็โต้ตอบถกเถียงกันในหมู่เพื่อนฝูงทำนองว่า ก็เพราะเขารวยไงล่ะ ถึงมีสิทธิ์กอดหลินปิง ส่วนคนจนๆ ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีสิทธิ์

     มากไปกว่านั้น คือการตั้งคำถามถึงการกระทำของสวนสัตว์และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจให้หลินปิงถูกกอดแลกกับเงิน 5 ล้านบาท ว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะควรหรือไม่ เพราะหากทำเช่นนั้น แพนด้าน้อยตัวนี้คงไม่ต่างจากสินค้าตัวหนึ่งที่ถูกสวนสัตว์นำมาใช้เป็นเครื่องมือหาเงิน

     แต่ก่อนจะไปค้นหาคำตอบกันถึงข้อสังเกตดังกล่าว ลองมาแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านมุมมองที่ผ่อนคลายกันสักหน่อยไหม เป็นต้นว่า ถ้าเปรียบหลินปิงเป็นสินค้าจริงๆ เป็นแบรนด์หรูที่คนคลั่งไคล้ หรือไม่ก็เป็นกิจกรรม เป็นดารา เป็นศิลปิน เป็นอะไรก็ตาม ที่ผู้คนพร้อมจะยอมจ่ายไม่อั้นเพื่อแลกกับการได้ถือครองหรือสนิทชิดใกล้

     ด้วยเหตุนี้ จึงอยากรู้นักว่า สำหรับคนที่คลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เป็นต้นว่า นักสะสมกันดั้มตัวยง, คนที่ชอบทำบุญ, หญิงสาวหัวใจเกาหลี รวมถึงชายหนุ่มผู้ชื่นชอบการ 'ลงอ่าง' เป็นชีวิต

     ถ้ามีเงิน 5 ล้านบาทอยู่ในมือ พวกเขาจะนำไปจัดการอย่างไร จะเพิ่มมูลค่าความสุขให้แก่ตัวเองด้วยวิธีไหน

     เหล่านี้ คือคำตอบของพวกเขา

     “หากมีเงิน 5 ล้าน ผมจะนำไปสร้างพิพิธภัณฑ์กันดั้ม เก็บรวบรวมของที่เกี่ยวกับกันดั้มเจ๋งๆ ไว้ครับ บางคนอาจมองว่า กันดั้มเป็นแค่ตัวการ์ตูน จริงๆ กันดั้มเป็นอะไรที่มากกว่านั้น ผมจึงอยากให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเสน่ห์ของกันดั้มเป็นอย่างไร มีอะไรซ่อนอยู่ในหุ่นเหล่านี้บ้าง”
เป็นคำตอบจาก พีรพงษ์ ธนกิจ แฟนพันธุ์แท้กันดั้ม

     พีรพงษ์ บอกว่าตอนนี้บ้านของเขา มีทั้งโมเดลกันดั้ม ตุ๊กตากั้นดัมจำลองหลากไซส์ หนังสือการ์ตูน หนังสือสารานุกรมข้อมูล นิยาย และสิ่งอื่นๆ อีกสารพัดที่ล้วนเกี่ยวข้องกับกันดั้มทั้งสิ้น ก่อนย้อนความทรงจำให้ฟังว่า ครั้งยังเยาว์ เมื่อได้ดูการ์ตูนกันดั้ม ก็รู้สึกถูกชะตากับหุ่นยนต์สุดเท่ห์เหล่านี้เข้าอย่างจัง ทำให้เขาสนใจใคร่รู้ความเป็นมา จึงเก็บข้อมูลและศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกันดั้ม โดยเก็บออมเงินค่าขนมเพื่อนำไปซื้อคอลเลกชั่นกันดั้มปีละครั้ง

     และความคลั่งไคล้ที่เก็บถูกรายละเอียดของกันดั้มไว้ในความทรงจำก็ส่งให้เขาคว้าตำแหน่ง 'แฟนพันธุ์แท้กันดั้ม' จากรายการแฟนพันธุ์แท้มาครองได้ นับเป็นการการันตีความ ‘คลั่ง’ ของพีรพงษ์ที่มีต่อกันดั้มได้เป็นอย่างดี

     โบกมือลาเจ้าของหุ่นในตำนานและก็ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาพูดคุยกับสุภาพบุรุษที่ชมชอบและอิ่มสุขกับการทำบุญกันบ้าง เขาคือ สรพงษ์ ชาตรี พระเอกยอดนิยม และคู่ชีวิต ดวงเดือน จิไธสงค์ ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ พลังแห่งศรัทธาและทุนทรัพย์เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในการสร้างอุทยานมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี (เมตตา บารมี) ริมถนนมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กอีกด้วย

     สรพงษ์ตอบคำถามเรื่องเงิน 5 ล้านกับเราว่า

     “เงิน 5 ล้านบาทเอาไปทำอะไรขึ้นกับความชอบความสนใจ และความสุขส่วนตัวของแต่ละคน คนที่ไม่มีบ้านอยู่ อาจนำไปสร้างบ้าน คนทำหนังก็อาจนำไปสร้างหนัง สำหรับผมคงเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและส่วนรวม คือนำไปใช้สร้างพระนอนปางพุทธไสยาสน์ พระทองสัมฤทธิ์องค์แรกของโลกครับ นั่นแหละความสุขของผม”

     หลังจากพูดคุยกับ 2 หนุ่มต่างวัยแล้ว ลองมารับฟังความเห็นของหญิงสาวกันบ้าง

     เธอคือ ลักขณา คำดี สาววัย 20 ปลายๆ ผู้คลั่งไคล้เทรนด์เกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขนาดเจียดเงินเดือนในแต่ละเดือนเพื่อเป็นทุนสำหรับเยือนประเทศที่ใฝ่ฝันมาแล้วถึง 3 ครั้ง เพียงเพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับความเป็นกลิ่นอายของเกาหลีใต้ ประเทศที่ 'ดงบังชินกิ' กลุ่มศิลปินที่เธอชื่นชอบอาศัยอยู่ เมื่อถามถึงว่าเธอชื่นชอบและคลั่งไคล้ความเป็นเกาหลีและศิลปินระดับไหน ได้คำตอบว่า “มาก”

     ลักขณาเล่าว่า เริ่มแรก เธอชอบที่จะดูซีรีส์เกาหลีและติดตามดูศิลปินอย่างเป็นจริงเป็นจัง จากนั้น ระยะหลัง ก็เริ่มทุ่มความสนใจมากขึ้นตามลำดับ เมื่อถูกถามว่า หากมีเงิน 5 ล้านบาทจะเอาไปทำอะไรเพื่อที่จะตอบสนองความคลั่งไคล้ของตัวเอง หญิงสาวผู้นี้ตอบว่า

     “ถ้าระยะสั้นนะ จะเอาไปจ้างศิลปินกลุ่มดงบังชินกิสักสามคนได้แก่ มิคกี้ ยูชอน, ยองวุง แจจุง และซีอา จุนซู ที่กำลังมีปัญหากับค่ายอยู่ตอนนี้ เพราะพวกเขาสามารถรับงานนอกได้ ให้มามีตแอนด์กรี๊ดกับแฟนคลับที่ประเทศไทย ซึ่งรวมค่าตัว ค่าที่พัก การดูแลต่างๆ ของศิลปินก็ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ส่วนสถานที่จัดก็น่าจะเป็นโรงหนังแถวๆ สยามสแควร์ ที่เป็นส่วนตัวนิดหนึ่ง เพราะแฟนคลับจะได้ไปร่วมงานอย่างสะดวกด้วย

     “เราจะเป็นคนดูแลศิลปินเองค่ะ ดูแลแบบใกล้ชิดด้วย ซึ่งตัวเราก็มีความสุขอยู่แล้ว และเพื่อนๆ เราที่ชอบเหมือนกัน เขาก็จะมีโอกาสที่จะใกล้ชิดศิลปินที่เขาชอบด้วย”

     ได้สัมผัสกับความคลั่งไคล้ของหญิงสาวกันแล้ว ลองมาทำความรู้จักกับความฝันของนักเที่ยว 'อ่าง' หรืออาบอบนวดกันบ้าง

     บีม (นามสมมติ) หนุ่มวัยกลางคน ที่ชื่นชอบการเที่ยวอาบ อบ นวดในระดับมากที่สุด ให้ความเห็นว่า ถ้ามีเงิน 5 ล้านบาทขนาดนั้น หากมองในระยะยาวเขาจะนำเอาไปลงทุนเล่นหุ้น เพื่อที่จะมีรายได้ ให้ตัวเองได้นำไปใช้เที่ยวในอนาคตได้อย่างไม่หมดสิ้นน่าจะดีกว่า

     “สมมติ เอาไปใช้อย่างเดียวก็หมดไง แต่ถ้าเอาไปทำอะไรให้มันงอกเงยแล้วตอบสนองสิ่งที่เราชอบ มันน่าจะดีกว่านะ ผมว่ามันไร้สาระที่เราจะจ่ายเงินตู้มเดียว 5 ล้านแล้วหายไปกับอะไรไม่รู้ จริงๆ ผมอาจจะเปิดร้านเป็นของตัวเองเลยก็ได้ ซึ่งร้านก็จะเป็นแบบที่มีโคโยตี้สาวๆ มาเต้น เป็นคาราโอเกะด้วย แบบที่มีน้องๆ หนูๆ มานั่งดริ๊งก์ และปกติเราก็ชอบไปเที่ยวแบบนี้อยู่แล้ว ถ้ามีเป็นของตัวเอง เราก็อยู่กับมันได้ทุกวัน ก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งด้วย”


หลินปิง ของ 'เรา' หรือของใคร?

     หลังจากรับฟังความเห็นของคนที่คลั่งไคล้สิ่งต่างๆ ซึ่งบอกเล่าการตอบสนองความสุขของตัวเองด้วยเงิน 5 ล้านบาทแล้ว ลองมารับฟังทัศนะจากนักเศรษฐศาสตร์กันบ้าง ซึ่งเป็นมุมมองต่อเนื่องจากประเด็นคำถามที่เราเกริ่นไว้ข้างต้น ถึง 'สิทธิ' ในการเข้าใกล้ เข้าถึงและสัมผัสเจ้าแพนด้าน้อย

     รวมถึงข้อกังขาที่ว่า การที่สวนสัตว์ยินยอมตามความต้องการของผู้บริจาคเงิน 5 ล้านบาท เพื่อให้หลานได้อุ้มหลินปิงนั้น เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีอำนาจในการรับผิดชอบดูแลสวนสัตว์แห่งนี้ สมควรทำหรือไม่?

     การกระทำดังกล่าว เปรียบเสมือนการมองหลินปิงเป็นเพียงสินค้าหรือเปล่า? หรือเป็นความปกติธรรมดาของสังคม ที่เมื่อมีอำนาจเงิน มีปัจจัยเพียงพอ ก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและเป็นที่ต้องการของคนหมู่มากได้ ไม่ต่างจากที่คนมีฐานะทั่วไปมีสิทธิ์เป็นเจ้าของกระเป๋าแบรนด์เนมราคานับล้าน

     ดร.ศักดิ์ชัย คิริพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สะท้อนความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า

     “หากเรามองหลินปิงเป็นสินค้าทั่วไป ก็แปลว่า ใครก็ตามที่มีเงิน ก็มีโอกาสได้เชยชม นั่นก็เท่ากับว่า คนที่มีสตางค์ก็ได้เข้าใกล้ แต่คนทั่วไปที่ไม่มีเงินมากเทียบเท่า ก็ไม่มีโอกาส นี่คือมุมมองที่ตั้งไว้ว่าถ้าหากหลินปิงเป็น 'สินค้า' นะครับ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง หลินปิงไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หลินปิงเป็นของทุกคน เป็นสมบัติของรัฐ เป็นของมีค่า เปรียบได้กับภาพศิลปะในพิพิธภัณฑ์ที่ไม่อาจตีค่า ดังนั้น สิทธิในการเข้าใกล้หลินปิง ก็ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับอำนาจซื้อของคน

     “คำถามของผมคือ รัฐมองว่าหลินปิงเป็นสมบัติส่วนตน หรือมองว่าเป็นสมบัติของส่วนรวม”

     สำหรับ ดร. ศักดิ์ชัย เขาไม่อาจละทิ้งคำถามดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเมื่อสวนสัตว์หรือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถนำรายได้เข้าสู่องค์กรด้วยอำนาจซื้อของคนที่ต้องการมีสิทธิในการเข้าใกล้หลินปิง

     “มุมมองส่วนตัวของผม หลินปิงควรเป็นของส่วนรวม เพราะหลินปิงสร้างความสุขให้คนทั้งประเทศ ไม่ควรจะเอาหลินปิงมาทำให้รู้สึกคล้ายกับสินค้าโดยให้เหตุผลว่า จะนำเงินมาช่วยสัตว์ หากจะทำเช่นนั้นจริงๆ ผมว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ เช่น ก่อตั้งกองทุนหรือมีสถานที่สำหรับรับบริจาคเงินเพื่อวิจัยแพนด้าและช่วยเหลือสัตว์ ในบริเวณที่เด็กๆ มาชมหลินปิง”

         ...แต่ไม่ควรใช้วิธีที่ให้สิทธิกับผู้ที่มี 'อำนาจซื้อ'
คือความเห็นทิ้งท้ายจากนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ ที่มีต่อปรากฏการณ์ 'ค่าตัวหลินปิง'

                   ...............

     “ตอนนี้ผมกำลังรอให้อาม่าติดต่อมาอีกครั้ง อาม่าเงียบหายไป คงตกใจที่มีข่าวเยอะ ถ้าอาม่าติดต่อมาอีกครั้งผมก็อนุมัติอยู่แล้วครับ เพราะถือว่าเป็นการโปรโมต เป็นการประชาสัมพันธ์ให้เด็กๆ รักสัตว์”

คือ คำตอบจาก โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

                     .............

              เรื่อง : ทีมข่าว CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น