xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันเสนอจับมือไทยพา“โอทอป”รุกตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไต้หวัน” เจ้าพ่อ SMEs ด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และไอซีที แนะ SMEs ไทยให้ผงาดขึ้นมาในยุคหลังวิกฤตการเงินโลก ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการตลาดระดับภูมิภาคเอเชีย พร้อมเสนอสร้างความร่วมมือกับไทยอย่างครบวงจรเพื่อยกระดับศักยภาพการขยายตัวในตลาดโลกซึ่งไต้หวันประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งนี้ เป็นการนำเสนอบนเวทีสัมมนาของงาน THAILAND SME EXPO 2010 ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2553

ดร. กวอน จี ลี ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไต้หวัน (SMEA) นำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “แนวโน้มยุคหลังวิกฤตเพื่อการเติบโตอย่างรุ่งเรืองของ SMEs ในเอเชียตะวันออก” โดยชี้ว่า SMEs ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่สามารถขยายตัวไปในตลาดระหว่างประเทศ จะพบทั้งโอกาสและปัญหาความท้าทายปรากฏอยู่ในสภาพแวดล้อมของตลาดโลกยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น การสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติจะเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง

ทั้งนี้ ดร. ลี แห่งไต้หวัน เสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับไต้หวัน ซึ่งโดดเด่นและมีโอกาสที่จะสร้างประโยชน์แก่ SMEs ได้อย่างมาก ใน 4 ด้านคือ การร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการวิกฤตการณ์ การร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น (สินค้าโอทอป) การสนับสนุนกันและกันในการบ่มเพาะผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบในระดับภูมิภาค การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในระหว่างกัน

ร่วมมือส่งเสริม‘โอทอป’รุกตลาดโลก
ความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น (ผลิตภัณฑ์โอทอป) เป็นประเด็นที่เน้นมาก เพราะมีความเป็นรูปธรรม เริ่มงานและเห็นผลเร็วโดยไต้หวันจะสนับสนุนไทยใน 3 โปรแกรม1.แนะนำการรุกตลาดโลก ประกอบด้วย การดึงเข้าร่วมงานนิทรรศการระหว่างประเทศ การให้คำแนะนำด้านการออกแบบตราสินค้า (Brand Design) และการดึงเข้าร่วมสัมมนาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสินค้าโอทอปโดยจะมุ่งใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อขยายมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมท้องถิ่น

2.ส่งเสริมการทำตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยการวางจำหน่ายสินค้าในร้านขายสินค้าโอทอปของไต้หวันที่กระจายทั่วไต้หวัน การนำเสนอสินค้าบนเว็บไซต์ OTOP Cultural Industry ของไต้หวัน จะมีการแนะนำในเรื่องการบริหารตราสินค้า (OTOP Brand Management) ด้วย3.ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ประกอบด้วย การทำตลาด การสร้างจุดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการองค์กร และการปลูกเพาะทักษะพิเศษ

SMEs ยั่งยืนได้ด้วยเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง
ดร. กวอน จี ลี ย้ำว่าเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง คือช่องทางที่ทรงคุณค่ามากที่จะนำพาให้ SMEs สามารถเข้าร่วมและไต่ระดับสูงขึ้นไปในห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) พร้อมกับช่วยสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับบริษัทธุรกิจต่างชาติ ในด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการตลาด และด้านศักยภาพการผลิต ในเวลาเดียวกัน SMEs ก็ต้องใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตและการขายในระดับนานาชาติ เหล่านี้เป็นมาตรการที่ SMEs ควรอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้เพื่อขยายตัวในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและขยายความสามารถในการแข่งขันให้แก่ SMEs

ร่วมมือบริหารจัดการวิกฤตการณ์
ความร่วมมือในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ เป็นเรื่องสำคัญที่ทางไต้หวันเน้นให้เกิดขึ้นโดยเร็วเช่นกัน เครื่องมือที่ไต้หวันใช้ทำงานในเรื่องนี้ คือ ศูนย์บริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับ SMEs ในเอเปค (APEC SME Crisis Management Center) ที่ไต้หวันจัดตั้งขึ้นและจะเปิดดำเนินงานในปี 2553 นี้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ SMEs ในการเข้าถึงตลาดโลก เข้าถึงเทคโนโลยี และเข้าถึงแหล่งทุนได้ แม้ในยามที่เกิดวิกฤตต่างๆ

SMEs ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์ฯ ใน 6 ด้าน คือ
1. ติดตามแนวโน้มและสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจผ่านการดำเนินงานของศูนย์ และได้รับข้อมูลการเตือนภัยล่วงหน้า
2. รับการฝึกอบรมในด้านการรับมือกับปัญหาและวิกฤตเศรษฐกิจโลก
3. เข้าร่วมสัมมนาและเวิร์กชอป เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ตลอดจนหนทางที่จะตอบโต้กับปัญหาและวิกฤตทั้งปวง
4. รับบริการปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือวิกฤต ตลอดจนการบริหารจัดการวิกฤต
5. รับข้อมูลคำแนะนำจากผลการศึกษาเรื่องการก่อตัวของวิกฤตและยุทธศาสตร์การโต้ตอบกับปัญหาและความเสี่ยงใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก
6. เข้าใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ของศูนย์ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น