xs
xsm
sm
md
lg

"อภิสิทธิ์" ลั่นหนุนเอสเอ็มอีไทยเต็มสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกฯ กล่าวเปิดงาน
“อภิสิทธิ์” ยันรัฐบาลพร้อมหนุนเอสเอ็มอีครบวงจรไม่จำกัดแค่เงินทุนเท่านั้น ระบุใช้งบไทยเข้มแข็งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยรับมือเปิดการค้าเสรี ประกาศนำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ช่วยเพิ่มมูลค่าและเสริมความสามารถการแข่งขันให้แก่สินค้าไทย ขีดเส้นให้เห็นผลงานชัดภายในปีนี้ พร้อมผุดไอเดียหนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ปูพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน Thailand SME Expo 2010 ว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศจะให้ความสำคัญต่อมหภาค หรือการส่งออกเป็นหลัก ไม่มองถึงธุรกิจระดับกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอีมากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญในการขับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยกว่า 2.82 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละกว่า 99.7 ของธุรกิจทั้งหมดของประเทศ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีกว่า 37.8 ของประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.44 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเกือบ 9 ล้านคน

***ระบุส่งเสริมเอสเอ็มอีครบวงจร****

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะมองปัญหาของเอสเอ็มอี เฉพาะแค่การเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากกว่ารายใหญ่ แต่การส่งเสริมเอสเอ็มอีจะมองเฉพาะปัญหาแค่เรื่องทุนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมามองความสามารถในการแข่งขัน โอกาสการตลาด เทคโนโลยี และนวัตกรรม ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ จึงเน้นที่จะส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร นอกจากนั้น จะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีกระจายตัวไปทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวเฉพาะในส่วนกลาง หรือในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น

***ดันไทยเข้มแข็งรับมือเปิดเสรี****

อีกทั้ง จากนโยบายไทยเข้มแข็งได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีเช่นกัน เน้นการปรับโครงสร้างการผลิตให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการเตรียมรับมือข้อตกลงการค้าการลงทุนซึ่งประเทศไทยไปลงนามไว้ โดยปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียน มีการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่การค้าเสรี AFTA (ASEAN Free Trade Area) และ AEC (ASEAN Economic Community) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งภาคเอกชนให้ข้อคิดว่า การเปิดเสรีการค้าจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เฉพาะแต่รายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ ส่วนเอสเอ็มอีไทยที่ขาดความพร้อม และประสบการณ์ จะกังวลว่า จะไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงดำเนินการศึกษา เพื่อเตรียมข้อมูลเชิงนโยบาย เพื่อแสวงหาโอกาสให้เอสเอ็มอี ในการรับมือการเปิดอาฟต้าและเอเปค รวมถึงอื่นๆ

“รัฐบาล พยายามจะเตรียมพร้อมว่าจะทำอย่างไร ที่จะให้เอสเอ็มอีได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนรอบด้านเพื่อเอสเอ็มอีแข่งขันกับต่างชาติได้ ตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่ง ผมพูดมาตลอดว่า ผมเชื่อมั่นในประเทศไทย เชื่อมั่นในคนไทย รวมถึงเชื่อมั่นในเอสเอ็มอีไทย ดังนั้น เมื่อมีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีครบวงจร ผมมั่นใจว่า เอสเอ็มอีไทยสามารถปรับตัว และพัฒนาจนสามารถเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

***ลั่นปีนี้ เห็นผลงาน ศก.สร้างสรรค์ ****

สำหรับเอสเอ็มอีในภาคการผลิต เดิมส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือรับจ้างผลิตเท่านั้น โดยใช้ความได้เปรียบด้านค่าแรงงานต่ำ แต่ปัจจุบันความได้เปรียบนี้หมดไปแล้ว รัฐบาลจึงปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ โดยนำนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไทยจากภูมิปัญญา ศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขันในอนาคต ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหวังว่า นโยบายนี้ จะเห็นผลชัดเจนภายในปีนี้ (2553)

***ประกาศดันนโยบายวิสาหกิจเพื่อสังคม****

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่เป็นนโยบายใหม่ที่รัฐบาลกำลังจะผลักดัน คือ ส่งเสริมความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่เอสเอ็มอีที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งวิสาหกิจเหล่านี้ อาจจะไม่มีเป้าหมายในการหากำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่เป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ในทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาส สร้างรายได้แก่คนในชุมชนและท้องถิ่น

“ลักษณะของวิสาหกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมมาตรการในการส่งเสริม เพื่อช่วยให้วิสาหกิจเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถอยู่รอดได้และแข่งขันได้ แต่ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคมของประเทศด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

***ชี้วิสาหกิจเพื่อสังคมต้องใช้เวลา****

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) กล่าวว่า ในต่างประเทศ ให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างมาก โดยจะแบ่งเป็นทั้งธุรกิจที่เป็นกลุ่มที่ไม่หวังผลกำไรเป็นเป้าสูงสุด ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่เอื้ออาทรต่อสังคม อย่างประเทศอังกฤษมีเอสเอ็มอีกลุ่มนี้กว่า 60,000 กิจการ จ้างงานกว่า 3 ล้านคน และสร้างรายได้กว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี โดยรูปแบบ คือ ทุกกิจการจะแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งเข้ามาเพื่อช่วยเหลือสังคม

สำหรับประเทศไทยที่จะเริ่มให้ความสำคัญแก่เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ เป็นการนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ที่จะเน้นการร่วมมือเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องประสบปัญหาอย่างกรณีมาบตาพุดขึ้นอีก ซึ่งต้นเหตุสำคัญมาจากการทำธุรกิจที่ขาดความสำนึกต่อสังคม อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัว

นายยุทธศักดิ์ เผยถึงการจัดงาน Thailand SME Expo 2010 ระหว่างวันที่ 28 -31 ม.ค. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จุดประสงค์เพื่อสร้างโอกาส และส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย โดยจะมีทั้งส่วนภาคธุรกิจจะมีการจำหน่ายสินค้าที่แสดงศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย และการเจรจาธุรกิจ ซึ่งคาดว่า จะเกิดการเจรจาธุรกิจ 400-500 คู่ต่อวัน เกิดมูลค่ากว่า 2,000-3,000 ล้านบาท นอกจากนั้น จะเป็นด้านวิชาการ มีการจัดสัมมนาความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร อีกทั้ง ให้คำปรึกษาด้านช่องทางการลงทุนต่างๆ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น