xs
xsm
sm
md
lg

สสว. แนะผู้ส่งออก ปรับกลยุทธ์รับมือเวียดนามลดเงินด่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.สสว.
สสว.แนะผู้ประกอบการ SMEs ส่งออกกลุ่มเกษตรแปรรูป สัตว์น้ำแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป พืชทุกชนิด รวมถึงแฟชั่น ปรับตัวรับการแข่งขันด้านต้นทุน หลังเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่อง แนะรัฐบาลดูแลค่าเงินให้สอดรับสถานการณ์การแข่งขันในภูมิภาค

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า การลดค่าเงินด่องของเวียดนามลงมา 5% ปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ได้มีการส่งสินค้าที่เกิดขึ้นจากคำสั่งซื้อก่อนหน้านี้ไปหมดแล้ว แต่ในอนาคตภาคการส่งออกของผู้ประกอบการ SMEs ย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยกับเวียดนามเป็นคู่ค้าและคู่แข่งกัน ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนสินค้า

จากการศึกษาวิเคราะห์ของ สสว. พบว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต ได้แก่ สินค้าประเภทเกษตรแปรรูป สัตว์น้ำแปรรูป โดยเฉพาะสัตว์น้ำแปรรูป อย่าง ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากปลา ไม่ว่าจะเป็น ปลาทู ปลาเค็ม ปลาแห้ง น้ำปลา ฯลฯ เนื้อสัตว์แปรรูป พืชทุกชนิด (ธัญพืช) แฟชั่นต่างๆ เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง และอัญมณี โดยมีมูลค่าในการส่งออกรวมกันกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสินค้าเหล่านี้แม้ในสายตาของต่างประเทศจะมองว่า ไทยมีคุณภาพ แต่ปัจจุบันเวียดนามก็สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าเหล่านี้ขึ้นมา ขณะที่สินค้าบางอย่างของไทย รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ยังตามหลังเวียดนามอยู่

“แม้เวียดนามจะทำการลดค่าเงิน แต่จากภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Warming) ทำให้ในปีหน้า ความต้องการของตลาดโลกในเรื่องของผลิตภัณฑ์เกษตรยังคงสูงอยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถพยุงตัวอยู่ได้จากคำสั่งซื้อที่เข้ามา แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้ เนื่องจากปัจจัยบวกที่เข้ามา เป็นปัจจัยบวกที่มาจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่”

นายยุทธศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจในปีหน้า แม้หลายประเทศจากออกมาบอกว่า เศรษฐกิจโลกจะดีดตัวกลับมา ซึ่งตนมองว่า จะเป็นการกลับมาแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มทรงตัว ขณะเดียวกัน ยังมีความเปราะบางในด้านอื่นให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการแข่งขันที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งในปีหน้าแต่ละประเทศคงจะมีกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาให้ได้เห็นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน การส่งออกที่มีเรื่องความสมดุลของค่าเงินบาทต่อสถานการณ์ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตามปี 2553 มูลค่าตลาดของ SMEs ในระบบวัดจากรายได้สุทธิ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 6 -7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ 3-4 โดยเป็นการส่งออก 1.6 -1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4 - 5 (รวมการส่งออกทั้งหมด); กำไรปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6 โดยมี ผลิตภาพแรงงานประมาณ 80,000 บาท:คน:ปี ปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 และ ผลิตภาพทุน 0.23 เท่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.52 ตามลำดับ

“แรงบีบคั้นเหล่านี้ นอกจากผู้ประกอบการ SMEs ของไทย จะต้องรองรับแล้ว รัฐบาลเองก็ต้องรองรับด้วย โดยเฉพาะการหาแนวทางเกี่ยวกับการความสมดุลของค่าเงินบาทกับสถานการณ์ปัจจุบันในภูมิภาค และสถานภาพการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งถ้าเรามีการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต่อให้เวียดนามหรือจีนลดค่าเงิน เราก็จะไม่กระทบเท่าไหร่ เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยมีจุดแข็งกว่าจีนที่เห็นภาพได้ชัดก็คือ ความมีธรรมาภิบาล คุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง ไทยยังมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าจีนในตลาดโลก” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น