xs
xsm
sm
md
lg

จี้อาหารไทยเจาะตลาดอิหร่าน วอนภาครัฐดันเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
ชี้ช่องอิหร่านตลาดใหม่ส่งออกอาหารไทย ระบุอัตราเติบโตสูง และเป็นประตูสู่ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เผยที่ผ่านมา ส่งออกยังแคบ จี้เร่งสร้างความเชื่อมั่น พร้อมกระตุ้นภาครัฐเป็นหัวหอกผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ประเทศอิหร่านมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งเป็นประตูการค้าไปสู่กลุ่มประเทศอี่นๆ ในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตรานำเข้าสินค้าอาหารของอิหร่าน เติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 30 ทั้งจากสหภาพยุโรป รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย และไทย

ดังนั้น อิหร่านถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากของผู้ประกอบการไทย แต่ที่ผ่านมาการส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ทั้งจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองของอิหร่าน และวัฒนธรรมที่แตกต่าง ที่สำคัญมาตรฐานสินค้าฮาลาล และระบบ Food Safety ของไทย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากอิหร่าน รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้า ทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายประสบกับความล้มเหลว และเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย และจีน ดังนั้น ภาครัฐควรเป็นผู้นำในการเจาะตลาด โดยทำแผนการขยายตลาดสินค้าฮาลาลและบริการในประเทศอิหร่าน และประเทศตะวันออกกลางให้เป็นวาระแห่งชาติ ช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าฮาลาล และระบบ Food Safety การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตรงกับความต้องการของตลาด จัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจทั้งสองชาติ และการส่งเสริมภาคการบริการ ทั้งท่องเที่ยว และสุขภาพ เพราะปัจจุบันชาวอิหร่านเริ่มนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 80,000 คนต่อปี จึงเป็นช่องทางสำคัญในการประชาสัมพันธ์อาหารไทย

ดร.อมร ระบุด้วยว่า การเข้าตลาดอิหร่าน ผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับวัฒนธรรมการบริโภค ทั้งรสชาติ และรูปแบบการบริโภค โดยสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ ข้าวเจ้า ซึ่งอิหร่านต้องนำเข้าเพิ่มปีละ 1.2 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกข้าวไปยังอิหร่านแค่ประมาณ 176,000 ตัน นอกจากนี้ สินค้าที่แนวโน้มดี เช่น สับปะรดกระป๋อง กาแฟสำเร็จรูป ทูน่ากระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง มะขามแห้ง สตาร์ชจากมันสำปะหลัง มะขามสด และมะม่วงกระป๋อง เป็นต้น ส่วนสินค้าอาหารของไทยที่ยังไม่มีการส่งออก แต่มีศักยภาพและควรส่งเสริม ได้แก่ ผลไม้สด เช่น มังคุด และมะม่วง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น