xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” งานเข้า! “สแตนชาร์ด” ฟ้องพันล. โวยถูกเบี้ยวจ่ายดอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สแตนชาร์ต” สุดทน ฟ้อง “เอสเอ็มอีแบงก์” 40 ล้านเหรียญหรือ 1,360 ล้านบาท ฐานเบี้ยวการชำระดอกเบี้ยและค่าปรับกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ พิษซับไพรม์ ยันเตือนแล้วแต่ยังเพิกเฉย

นายวรุณ กาญจนภู รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมายและบรรษัทภิบาล และสำนักงานเลขานุการบริษัท ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปิดสถานะในสัญญาธุรกรรมบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) (ธพว.) ที่ต้องการระดมเงินเพื่อตอบสนองนโยบายการกระตุ้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของรัฐบาลในปี 2549 ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 7 ส.ค. 2554 เนื่องจากเอสเอ็มอีแบงก์ไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันในสัญญา 3 ครั้ง ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดในอนาคต ธนาคารจึงได้ทำการปิดสถานะดังกล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารได้ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง (IPIT) เพื่อเรียกร้องการชดใช้จากการปิดสถานะทั้งหมดกับเอสเอ็มอีแบงก์ในวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา กรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ 3 ครั้งในเดือน ม.ค. 2551 ส.ค. 2551 และ ก.พ. 2552 คิดเป็นมูลค่าดอกเบี้ยรวมค่าปรับทั้งสิ้น 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,360 ล้านบาท) ซึ่งการผิดนัดชำระดังกล่าวคาดว่าเกิดจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจากวิกฤตซับไพร์มที่เกิดขึ้น

นายวรุณกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้พยายามส่งสัญญาณและข้อมูลไปยังเอสเอ็มอีแบงก์ในการขอปรับโครงสร้างของสัญญา เพื่อให้เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุดและเหมาะสมกับสภาวะ แต่ทางเอสเอ็มอีแบงก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้น จนกระทั่งเอสเอ็มอีแบงก์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มจึงได้ประกาศโมฆะกรรม โดยอ้างว่าสัญญาทุกฉบับเป็นโมฆะ ธนาคารจึงขอให้มีหลักฐานในการแสดงยื่นโมฆะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ได้รับการติดต่อจากเอสเอ็มอีแบงก์แต่อย่างใด ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ธนาคารมีความกังวลมาก เพราะหากการประกาศโมฆะโดยที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายและไม่มีหลักการใดๆมารองรับนั้นจะส่งผลเสียต่อทุกฝ่ายทั้งธนาคาร ลูกค้าที่ซื้อบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวไปแล้วที่เป็นลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ

ทั้งนี้ ธุรกรรมบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ได้ทำการเปิดสถานะเมื่อปี 2549 มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้เชิญสถาบันการเงินมาประมูลการทำธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งธนาคารยืนยันว่ากระบวนการคัดสรรเป็นไปอย่างโปร่งใส และกระทำตามกระบวนการที่ได้กำหนด โดยในการออกบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่เป็นการระดมเงินจากต่างประเทศ ธนาคารและเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ทำสัญญาการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สัญญาป้องกันความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ย และสัญญาการรับประกันการจัดจำหน่ายตามปกติ ซึ่งในสัญญาดังกล่าวได้มีการตกลงกำหนดกรอบว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่กำหนด ธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ก็จ่ายแค่อัตราดอกเบี้ยไม่ต้องจ่ายค่าปรับ แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยหลุดออกนอกกรอบที่กำหนด เอสเอ็มอีแบงก์ก็จะต้องจ่ายค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย และในที่สุดเอสเอ็มอีแบงก์ก็ไม่ยอมจ่ายอัตราดอกเบี้ยและค่าปรับดังกล่าวพร้อมกับบอกเลิกสัญญาเป็นโมฆะ

“ ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดปัญหาซับไพร์มขึ้น ในไตรมาส 3 ของปี 2550 ธนาคารได้แจ้งโอกาสการเกิดวิกฤตดังกล่าวไปยังเอสเอ็มอีแบงก์ว่าจะมีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาดโลก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง จนมาถึงไตรมาส 1 ของปี 2551 ที่เกิดวิกฤตซับไพร์มและเริ่มส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่ได้มีการอ้างอิงกันไว้เริ่มออกจากช่วงที่ได้กำหนด จึงเกิดปัญหาขึ้น และธนาคารก็ได้เสนอให้ปรับโครงสร้างการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างเช่น เปลี่ยนวิธีจากการออกตราสารหนี้ไปเป็นการออกเงินกู้ธรรมดาแทน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากเอสเอ็มอีแบงก์อีกเช่นกัน” นายวรุณ กล่าว

สำหรับมูลค่าการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและมูลค่าการฟ้องร้องค่าชดใช้นั้น นายวรุณ กล่าวว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ในขณะนี้ เพราะจะมีผลต่อรูปคดีอีกทั้งต้องรอกระบวนการทางศาลก่อน ส่วนมูลค่าคาดการณ์ที่เอสเอ็มอีแบงก์จะต้องจ่ายให้กับธนาคารเป็นจำนวน 3 พันล้านบาทตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านั้น ธนาคารก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นจำนวนดังกล่าวเลย ซึ่งอาจจะมากกว่านั้นก็เป็นได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น