xs
xsm
sm
md
lg

“๔° C” เครื่องประดับฉีกกรอบ เชื่อมวัฒนธรรม 4 ภาคใส่โมเดิร์น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไอเดียของสาวน้อย อย่าง “กรกช วรมุกสิก” สร้างสรรค์เครื่องประดับรูปแบบใหม่ไม่เหมือนใคร ด้วยการดึงวัฒนธรรมไทย ทั้ง 4 ภาคสื่อผ่านตัวอักษร ประยุกต์เป็นเครื่องประดับแนวโมเดิร์นนานาชนิด ทั้งสวยงาม และทันสมัย กลายเป็นสะพานเชื่อมให้คนรุ่นใหม่อยากโชว์ความเป็นไทยอย่างไม่กลัวเชย
กรกช วรมุกสิก ผู้ออกแบบและเจ้าของธุรกิจ
เจ้าของผลงาน ๔° C (4 degree Celsius) เล่าว่า หลังจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศิลปากร อยากจะทำธุรกิจเครื่องประดับที่จะสื่อถึงความเป็นไทยในรูปแบบสมัยใหม่ เพื่อให้วัยรุ่น สามารถใส่ได้ง่ายขึ้น ไม่รู้สึกว่าเชย หรือถูกจำกัดเป็นเครื่องประดับที่ใส่ได้แค่บางโอกาสเท่านั้น
แหวน แม่โขง ตัวแทนจากภาคอีสาน
“เมื่อนึกถึงเครื่องประดับไทยๆ ความรู้สึกแรก เราจะรู้สึกว่า ต้องเลอหรูอลังการ และยากแก่การเข้าถึง เช่น ทองสุโขทัย หรือเครื่องประดับโบราณต่างๆ เด็กวัยรุ่นก็ไม่กล้ามาใส่ ฝน(ชื่อเล่นของกรกช)เลยอยากทำเครื่องประดับไทยๆ ที่มีดีไซน์แตกออกไป แต่สามารถสื่อถึงความเป็นไทยได้ชัดเจนทำให้เกิดเป็นไอเดียอยากจะหยิบวัฒนธรรมภาคต่างๆ ของประเทศไทย มาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ” กรกช อธิบาย
ต่างหู ตัวแทนภาคใต้
เมื่อตั้งโจทย์ว่า อยากสื่อถึงวัฒนธรรมภาคต่างๆ ตัวแทนที่เลือกใช้เป็นสื่อ คือ ตัวอักษร เพราะสามารถแสดงถึงบุคลิกของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างดี ทั้งรูปร่างลักษณะของตัวอักษร (Font) และภาษาที่ใช้ โดยออกแบบแบ่งเป็น 4 ภาคหลัก ได้แก่ อีสาน เหนือ ใต้ และกลาง
สร้อยที่นำคำสนุกๆ มาสื่อถึงภาคอีสาน
“การออกแบบเครื่องประดับ จะเน้นเป็นแนวโมเดิร์นเหมาะกับคนรุ่นใหม่ สามารถใส่เล่นได้ง่ายๆ และใส่ได้แทบทุกโอกาส ส่วนตัว Font ที่ใช้แทนแต่ละภาค จะแตกต่างกันไปตามบุคลิกของท้องถิ่น มีทั้งเป็น Font โปรแกรมสำเร็จรูป และออกแบบขึ้นใหม่เอง อย่างตัวอักษรภาคเหนือจะดูอ่อนไหวสไตล์ล้านนา ภาคใต้จะดูเข้มแข็ง ขณะที่ภาคอีสานออกสไตล์สนุกสนาน” กรกช เผย
ต่างหูเป็นตัวแทนภาคเหนือ
ส่วนคำหรือสำนวนที่มาใช้เล่นบนเครื่องประดับ จะดึงลักษณะเด่นของแต่ละภูมิภาคออกมาเป็นจุดขาย ฟังแล้วรู้สึกน่ารัก และเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นตัวแทนจากภาคใด เช่น ต่างหูพี่บาว-สาวนุ้ย เป็นตัวแทนภาคใต้ หรือแหวนแม่โขน ตัวแทนภาคอีสาน เป็นต้น
สร้อยสไตล์ภาคใต้
วัตถุดิบที่ใช้มีทั้งทำจากทอง เงิน ทองเหลือง และเหล็กชุปสี การผลิตมีทั้งเป็นแฮนด์เมด 100% คือ สาวน้อยคนนี้ลงมือเลื่อยฉลุ ขัดกระดาษทราย และลงสีด้วยมือของตัวเองทั้งหมด กับชิ้นงานที่ทำเฉพาะตัวแม่พิมพ์แล้วส่งโรงหล่อออกมาเป็นชิ้นๆ สินค้ามีทั้งแหวน สร้อย กำไล และต่างหู ราคาแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบ และความยากง่าย เริ่มต้นที่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท
แหวนเขียนคำว่า ยอดรัก ตัวแทนภาคอีสาน
ผลงานเครื่องประดับ ๔° C มีช่องทางตลาดที่หน้าร้านใน ชั้น 3 โซนดีไซน์ และผลิตตามคำสั่งซื้อ (made to order) นอกจากนั้น ออกงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับต่างๆ

สาวน้อยนักออกแบบ ระบุว่า เครื่องประดับที่สร้างสรรค์ขึ้น ได้การตอบรับอย่างดีจากลูกค้ากลุ่มสุภาพสตรีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ขณะที่ปัญหาธุรกิจ อยู่ที่เป็นงานแฮนด์เมดไม่สามารถทำได้ในปริมาณมากๆ รวมถึง มีข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงไม่สามารถจะเพิ่มกำลังผลิต และช่องทางจำหน่ายให้มากตามที่ใจอยาก
กำไลตัวแทนภาคกลาง
นอกจากนั้น อีกปัญหา สินค้ายังโดนลอกเลียนแบบ ด้วยการนำไปหล่อแม่พิมพ์ แล้วเปลี่ยนวัตถุดิบขายตัดราคา ปัญหานี้แทบไม่สามารถป้องกันได้ นอกจากพยายามออกแบบใหม่หนีผู้คิดจะลอกเลียนแบบไปเรื่อยๆ

“ยอมรับว่า ช่วงแรกที่เห็นงานของเราถูกเลียนแบบ ค่อนข้างเสียความรู้สึก แต่ตอนหลังก็ช่างมัน ใครทำอะไร ก็ต้องรู้ตัวเอง ไม่เป็นไร ความสามารถมันอยู่ในตัวเอง เราออกแบบใหม่ได้ ถ้าเขาคิดจะเลียนแบบ ก็ต้องเป็นผู้ตามเราตลอดไป” กชกร ระบุ
อักษรแต่ละแบบ สื่อแทนแต่ละภาค

กำลังโหลดความคิดเห็น