สถาบันหม่อนไหมฯ จัดงาน “สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่4” เทิดพระเกียรติพระนางเจ้า และผลักดันผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยสู่ตลาดสากล นำผู้ผลิตที่ได้รับตรานกยูงพระราชทานกว่า 10 รายร่วมแสดงสินค้าและจำหน่าย พร้อมดึงเพื่อนบ้านอาเซียนร่วมประชุมวิชาการ ชงไทยศูนย์กลางภูมิปัญญาหม่อนไหมในอาเซียน
นายประทีป มีศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถาบันหม่อนไหมฯเตรียมที่จะจัด งาน “ ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 4 ปี 2552” ระหว่างวันที่ 6-10 สิงหาคม 2552 ณ อาคาร 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาและเผยแพร่ผ้าไหมไทยสู่สากลโลก และสนับสนุนหม่อนไหมไทย ให้เจริญก้าวหน้า รวมถึงนำเสนอวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีของหม่อนไหมไทย
ทั้งนี้ กิจกรรมในงาน เช่น นิทรรศการเทิดพระเกียติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาผ้าไหมไทย ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญลักษณ์ตรานกยูงให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา
นอกจากนั้น จัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหมที่ได้รับตรานกยูงจำนวน 100 ร้าน การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหม การแสดงและจำหน่ายนวัตกรรมหม่อนไหม เช่น ผงไหม นำไปไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ครีมทาผิว ครีมทางหน้า ครีมอาบน้ำ และยังมีผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลหม่อน เช่น ไวน์ แยม น้ำหม่อน เป็นต้น ซึ่งทั้งใบและผลหม่อน อีกทั้ง มีการจัดประกวดการพัฒนาผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ผ้าไหม เช่น 1. การประกวดเส้นไหมน้อยสาวมือ เส้นไหมหลืบสาวมือ การประกวดผ้าไหมให้ระดับตรานกยูงพระราชทาน ประกวดสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม และประกวดออกแบบชุดผ้าไหมระดับเยาวชน
นายประทีป กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รวบรวมผู้ผลิตที่ได้รับตรานกยูงพระราชทานจากทั่วประเทศ นำผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมาแสดงและจำหน่ายภายในงาน เป็นโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้อผ้าไหมคุณภาพดี ราคายุติธรรมจากแหล่งผลิตโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง ขณะที่ผู้ผลิตเองจะได้รู้ความต้องการผู้บริโภค นำไปใช้พัฒนาผ้าไหมให้ตรงกับความต้องการของตลาด
และเพื่อให้การส่งเสริมเป็นไปอย่างครบวงจร ทางสถาบันได้จัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการหม่อนไหมอาเซียน (ASEAN Collaboration on Sericulture Research and Development Conference) ขึ้นควบคู่กันไป เพื่อประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการและศิลปวัฒนธรรมด้านหม่อนไหม ระหว่างประเทศในอาเซียน โดยจะมีการประชุมวิชาการ ทั้งด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวรังไหม สาขาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมหม่อนไหม รวมทั้งนโยบายและแนวทางการพัฒนาหม่อนไหม ทั้งนี้ สถาบันหม่อนไหมตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางวิชาการและภูมิปัญญาหม่อนไหมในอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นประเทศแรกที่มีการก่อตั้งสถาบันที่ดำเนินงานเกี่ยวกับหม่อนไหม
นอกจากนี้ ยังมีการประกวดผ้าไหมและการออกแบบชุดผ้าไหมอาเซียน 2552 (ASEAN SILK FABRIC AND FASHION DESIGN CONTEST 2009) เพื่อแสงดและแลกเปลี่ยนความรู้ภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหม และส่งเสริมให้มีการออกแบบและพัฒนาผ้าไหมระหว่างประเทศสมชิก ขณะนี้มีประเทศที่ตอบรับส่งผ้าไหมและชุดผ้าไหมเข้าประกวดแล้ว 5 ประเทศ