xs
xsm
sm
md
lg

“แบงก์ชาติ” ดันไมโครไฟแนนซ์ปล่อยกู้รากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แบงก์ชาติ” ผลักดันไมโครไฟแนนซ์ ปล่อยกู้แก่รากหญ้าทดแทนการไปกู้นอกระบบ แจงดำเนินการเวิร์กชอปให้ความรู้แก่แบงก์พาณิชย์เพื่อจูงใจให้บริการนี้มากขึ้น

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส สายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการศึกษาการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ (ไมโครไฟแนนซ์) โดยยอมรับว่า การให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว ถึงเป็นเรื่องใหม่ในการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยไม่เคยทำมาก่อน และมองว่าเป็นธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหลักการของการให้สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ เป็นการให้สินเชื่อแก่คนที่ไม่เคยมีประวัติทางการเงินมาก่อน และไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน เพื่อให้ระดับรากหญ้าเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้จริง

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของไมโครไฟแนนซ์ที่ ธปท.ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากสินเชื่อเหล่านี้จะเข้ามาทดแทนเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ของผู้มีรายได้น้อยและไม่มีโอกาสกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงิน แต่การกู้นอกระบบจะถูกเอาเปรียบจากอัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก ดังนั้น ในช่วงต่อไปนี้ ธปท.มีแผนจะจัดเป็นสัมมนาเวิร์กชอป หรือการออกไปให้ความรู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ไทย ให้เข้าใจการดำเนินการธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในลักษณะไมโครไฟแนนซ์มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้เปิดใจยอมรับ และสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเข้ามาทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กในลักษณะนี้มากขึ้น

“ธปท.เข้าใจดีว่า หากธนาคารพาณิชย์จะทำธุรกิจอะไร จะต้องสามารถสร้างกำไรได้ และการปล่อยสินเชื่อลักษณะนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบัน ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เก็บจากลูกค้าอาจจะสูงกว่าการปล่อยกู้ในระบบปัจจุบัน แต่ถ้าเทียบกับดอกเบี้ยหนี้นอกระบบในขณะนี้จะต่ำกว่ามาก และที่สำคัญช่วยเพิ่มโอกาสการทำอาชีพให้กับคนระดับรากหญ้ามากขึ้น แต่การจะเชิญชวนให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำก็ต้องสร้างความเข้าใจว่า การทำธุรกิจลักษณะนี้มีโอกาสในการทำกำไรได้” น.ส.นวพร กล่าว

ทั้งนี้ จากที่หารือในเบื้องต้นกับธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น มีบางรายที่สนใจและตั้งใจจะใช้เป็นช่องทางในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ขณะที่การเพิ่มธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศที่เคยมีประสบการณ์หรือทำธุรกิจนี้ในต่างประเทศ ให้เข้ามาขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) จัดตั้งสถาบันการเงินในประเทศไทย เป็นเรื่องหนึ่งที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแผน 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2552-2256 ซึ่งธนาคารต่างประเทศเหล่านั้นมีความเข้าใจอยู่แล้ว ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเป็นหน้าที่ ธปท.ที่จะให้ความรู้กับธนาคารพาณิชย์ไทยให้แข่งขันได้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น