จากไอเดียของ “กิตติพงศ์ บุษสาย” ที่อยากเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องลุกเดินไปเปิดปิดสวิทซ์ไฟ เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์นวัตกรรมโคมไฟควบคุมการปิดเปิดโดยใช้รีโมทคอนโทรล และที่พิเศษกว่านั้น คือ สามารถใช้งานได้กับรีโมททุกชนิดที่เป็นรังสีอินฟาเรส
“ไอเดียแรก เกิดจากลูกเล็กๆ ของผมตื่นตอนกลางคืน ซึ่งระยะทางจากแค่เตียงไปที่สวิทซ์ไฟ ผมก็กังวลว่า ลูกจะเป็นอันตรายตกเตียง เพราะความมืดทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย ผมเลยอยากจะหาอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ไม่ต้องเดินไปที่สวิทซ์ก็เปิดไฟได้ จึงลองไปหาซื้อสินค้าประเภทนี้ในตลาด ปรากฏว่าไม่มีเลย ทำให้คิดว่า น่าจะมีคนอื่นๆ ที่มีอุปสรรคในชีวิตประจำวันเหมือนเรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.บี.สมาร์ท คอนโทรล จำกัด เผยที่มาของสินค้า
ส่วนตัวแล้ว หนุ่มรายนี้ไม่มีพื้นฐานด้านงานวิศวะ หรือไฟฟ้าใดๆ เลย การประดิษฐ์สินค้าต้นแบบใช้วิธีจ้างผู้เชี่ยวชาญในสาขาเกี่ยวข้องมาเป็นทีมงาน โดยพื้นฐานนวัตกรรมนี้เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่แล้วในหลายๆ ด้านมาผสมผสานกัน แล้วประยุกต์เสียใหม่ให้ตรงกับไอเดียที่ต้องการทำอุปกรณ์เปิดปิดไฟด้วยรีโมท
“ในต่างประเทศ มีอุปกรณ์เปิดปิดสวิทซ์ด้วยรีโมทเช่นกัน แต่การใช้งานจะต้องเป็นรีโมทเฉพาะตัวเท่านั้น อีกทั้ง ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น ผมมาคิดต่อยอดว่า ถ้ามันจะสะดวกจริง ทำไมต้องจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะรีโมทของมันเองเท่านั้น อุปกรณ์ของผม จึงมีคุณสมบัติพิเศษรับสัญญาณจากรีโมทที่เป็นรังสีอินฟาเรสได้ทุกชนิด จะกดปุ่มใดของรีโมทก็ได้ ซึ่งในปัจจุบัน รีโมทเครื่องไฟฟ้าแทบทั้งหมดไม่ว่าจะทีวี ดีวีดี แอร์ ล้วนแต่มีรังสีอินฟาเรล ทำให้ผลงานนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ชิ้นแรกในโลก” กิตติพงศ์ อธิบาย และเผยต่อว่า
ใช้เวลากว่า 1 ปี และทุน 3-4 แสนบาท ในการทดลองและพัฒนากว่าจะได้สินค้าต้นแบบ จดคุ้มครองความลับทางการค้าไว้แล้ว ทว่า เพื่อให้แน่ใจว่า สินค้ามีโอกาสจริงทางการตลาด ได้ปรึกษากูรูการตลาดหลายคน ซึ่งได้รับคำยืนยันว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ระยะแรกวางแผนจะทำออกมาเป็นชุดอุปกรณ์รับสัญญาณเท่านั้น เพื่อส่งขายตามร้านอุปกรณ์อะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาตลาดอย่างรอบด้านแล้ว เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบโคมไฟเปิดปิดอัตโนมัติแทน ซึ่งจะขายได้มูลค่าสูงกว่า อีกทั้ง ขยายตลาดสู่กลุ่มของตกแต่งบ้านได้ด้วย
“สินค้าประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า มันเป็นตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่ผลิตครั้งละมากๆ แบบแมสโปรดักซ์ (mass product) กำไรต่อชิ้นไม่สูงนักอาศัยว่าขายในปริมาณมาก แต่สำหรับที่ผมเป็นเอสเอ็มอี โอกาสเสี่ยงสูงที่จะโดนรายใหญ่ลอกไอเดียแล้วผลิตมาขายตัดราคา ผมจึงเลือกนำนวัตกรรมมารวมกับดีไซน์เป็นโคมไฟที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งขายได้มูลค่าสูงกว่า เบื้องต้นดีไซน์มา 3 สไตล์ คือ ไทย ยุโรป และอียิปต์ มีแบบทั้งหมดกว่า 50 แบบ” เจ้าของไอเดีย เผย
สำหรับคุณสมบัติของโคมไฟอัตโนมัติ จะรับสัญญาณรีโมทรังสีอินฟาเรสได้ในระยะถึง 30 เมตร ทำหน้าที่เสมือนสวิทซ์ปิดเปิดไฟฟ้า ทำให้ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งจะแตกต่างกับการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยรีโมท อย่างโทรทัศน์ที่แม้หน้าจอจะมืดแต่กินไฟเหมือนเปิดปกติ สำหรับราคาขายอยู่ที่ 3,500 -10,000 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับดีไซน์ ซึ่งสูงกว่าโคมไฟที่มีดีไซน์ใกล้เคียงกันประมาณ 20%
กิตติพงศ์ เล่าต่อว่า นับถึงขณะนี้ลงทุนในธุรกิจไปกว่า 3 ล้านบาท การผลิตทั้งหมดใช้วิธีว่าจ้างโรงงาน มีสต๊อคสินค้าเก็บไว้รวมกว่า 3,000 ชิ้น และเริ่มวางตลาดจริงมาแล้วประมาณ 1 ปีกว่า ผ่านหน้าร้านของตัวเองในเมืองพัทยา รวมถึงส่งตามร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้านในเมืองพัทยา ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 100 ชิ้นต่อเดือน
“ผมเชื่อว่า สินค้ามีโอกาสในตลาดอีกมาก เพราะเทคโนโลยีนี้ สามารถต่อยอดได้มาก เช่น ใช้เปิดปิดพัดลม หรือหลอดไฟติดเพดาน โดยการทำตลาดระยะใกล้ ผมจะพยายามเสนอสินค้าไปสู่กลุ่มโครงการบ้านจัดสรรและโรงแรม ให้เขาไปใช้สร้างความน่าสนใจให้ลูกค้า นอกจากนั้น เสนอไปที่โรงพยาบาล หรือกลุ่มคนพิการ เพื่อความสะดวกสบายให้แก่คนไข้ หรือคนพิการ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าเหล่านี้มากกว่าคนปกติเสียอีก และในอนาคตหากแบรนด์ติดตลาดแล้ว จะผลิตเป็นแบบชุดอุปกรณ์รับสัญญาณ เพื่อขายแมสโปรดักซ์” เจ้าของธุรกิจ ระบุ
************
โทร.038-270-615