xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.รับงบหนุน 129 ลบ. เสริมศักยภาพ SMEs

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รับงบประมาณกว่า 129 ล้านบาท จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ SMEs ชี้ทางออกของ SMEs ลดต้นทุนการผลิต แต่ต้องไม่ลดการจ้างงาน และล่าสุด กรมฯ ร่วมกับ 13 สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน และ รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดเสวนาหาทางออกและการปรับตัวผู้ประกอบการ เล็ก – กลาง (SMEs) เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ในงาน“Manufacturing Expo 2009” มหกรรมแสดงเทคโนโลยีและเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 25 - 28 มิถุนายน 2552 ณ ไบเทค บางนา

นายพสุ โลหารชุน รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยลดการใช้จ่ายลง ตลาดทั่วโลกมีการเติบโตที่ถดถอย สำหรับ ทางออกของ SMEs ไทยก็คือ “การลดต้นทุน” ซึ่งจะต้องไม่ใช้การลดต้นทุนที่เกิดจากการจ้างงาน ในการนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับ SMEs จึงได้เกิด “โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของ SMEs” โดยได้รับการอนุมัติงบประมาณจำนวน 129 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนโดยการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนในส่วนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต อาทิ ต้นทุนด้านพลังงาน การสูญเสียในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ยังได้ดำเนิน “โครงการต้นกล้าอาชีพ” เพื่อหาทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม โดยในเบื้องต้นได้จัดทำฐานข้อมูลรายชื่อโรงงานที่มีความต้องการจ้างแรงงานในหลายอุตสาหกรรมใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ และ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระบบสมองกลฝังตัว (Embeded) และแอนิเมชั่น (Animation) ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักมีตำแหน่งงานรองรับเบื้องต้นอย่างน้อยประมาณ 20,000 - 30,000 ราย โดยมีสถานประกอบการและสมาคมที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 78 สถานประกอบการ จำนวนคนเข้ารับการฝึกอบรม 7,721 ราย

นายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานสมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนและนายกสมาคมรับช่วงการผลิต เผยแนวทางสมาพันธ์ฯ กำลังพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อนำพาผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต คือ การให้แนวทางการปรับตัว กระตุ้นการเปิดตลาดใหม่ ๆ และมองหาความสามารถของเครื่องจักรและแรงงานที่มีอยู่ ในการแตกไลน์การผลิตสินค้า ในขณะเดียวกันสมาพันธ์ฯ ได้มีการหารือถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่เข้าถึงและตรงจุด โดยที่ชัดเจนในขณะนี้ คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งไม่ใช่การลดต้นทุนที่เกิดจากการจ้างงาน โดยสามารถดำเนินได้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การลดความสูญเสียในการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและการลดความสูญเปล่าด้านแรงงาน การเพิ่มความสามารถด้าน Logistic การลดความผิดพลาดในการบริหารธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งการลดต้นทุนนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

นายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย ประเมินสถานการณ์ของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในปีนี้ว่า อัตราการเติบโตจะลดลงถึง 50 % จากมูลค่าของอุตสาหกรรมประมาณ 30,000 ล้านบาท จะเหลืออยู่เพียงประมาณ 15,000 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ลดกำลังการผลิตลง ทำให้ความต้องการใช้แม่พิมพ์ในการผลิตสินค้าลดลงตามไปด้วย ในการนี้ สมาคมฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หาแนวทางในการฝ่าวิกฤติ เน้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการผลิต ในทิศทางเดียวกับแนวทางเดียวกับมติสมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน

นางนิชาภา ยศวีร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ เผยว่า ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ การตั้งรับสถานการณ์อย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอ เราต้องคาดการณ์ และวางแผนดำเนินการล่วงหน้า เพื่อจะได้ก้าวนำคู่แข่งไปสู่เส้นชัย ในการนี้ บริษัทฯ ขานรับนโยบายรัฐ พร้อมเปิดเวทีสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จัดเสวนา “ ต้นทุนที่ลดได้ คือ กำไรที่เพิ่มขึ้น” เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมสนับสนุน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจให้เรียนรู้แนวทางการลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และสมารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองได้ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2552 ณ ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 1 – 3 ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา

งานเสวนา “ต้นทุนที่ลดได้ คือ กำไรที่เพิ่มขึ้น” เป็นเสวนาส่วนหนึ่งของงานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ “Manufacturing Expo 2009” มหกรรมแสดงเทคโนโลยีและเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 25 - 28 มิถุนายน 2552 ณ ไบเทค บางนา ประกอบด้วย 4 งานแสดงเฉพาะทางสำหรับสาขาการผลิตต่างๆ ได้แก่ งาน InterPlas Thailand 2009 เพื่อการผลิตพลาสติกและยาง, InterMold Thailand 2009 เพื่อการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูป, Automotive Manufacturing 2009 เพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ Assembly Technology 2009 จัดแสดงระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยี

สำหรับกระบวนการผลิต งานดังกล่าวจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้เติบโตเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมผู้แสดงสินค้า กว่า 1,500 แบรนด์ดังระดับโลกจาก 20 ประเทศ โดยจะจัดร่วมกับอีกหนึ่งงานสำคัญ ได้แก่งาน NEPCON Thailand 2009 งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 350 แบรนด์สำคัญจาก 20 ประเทศไว้ด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะมีนักอุตสาหกรรม นานาชาติ กว่า 35,000 ราย เข้าร่วมชมงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น