xs
xsm
sm
md
lg

"Full Candle" ดีไซน์เทียนหอม เพิ่มทางเลือกของฝากล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทียนรูปช้างและซุง ดีไซน์เอาใจนักท่องเที่ยว
เทียนหอมเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยมีฝีมือในการออกแบบเทียนหอมที่เรียกได้ว่า ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งวัดได้จากเทียนหอมของไทยที่ส่งออกไปขายต่างประเทศจำนวนมาก

สำหรับแหล่งผลิตเทียนหอมที่มีดีไซน์และขึ้นชื่อ ก็ต้องเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ และหนึ่งในนั้น ก็คือ ผลงานการผลิตเทียนหอมของ "นายเสกสรรค์ ขัติกุล" ที่ใช้แบรนด์ว่า “Full Candle” จุดเด่นอยู่ที่รูปแบบงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร บวกกับฝีมือที่โดดเด่น ทำให้เทียน Full Candle แจ้งเกิดในตลาดส่งออกได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
นายเสกสรรค์ ขัติกุล เจ้าของ
นาย เสกสรรค์ เล่าว่า ได้เริ่มทำเทียนหอมออกจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบันทำออกมาได้ประมาณ 13 ปี จุดเริ่มต้นมาจากเดิมตนเองเปิดโรงงานทำแพจเกจจิ้ง และวันหนึ่งลูกค้าแนะนำให้ทดลองทำเทียนเพื่อขายไปพร้อมกับแพคเกจจิ้ง และประกอบกับในช่วงนั้นเทียนหอมได้รับความนิยมอย่างมาก จึงทดลองทำขึ้นมา โดยได้ความรู้จากการศึกษาในหนังสือ แมกกาซีนต่างประเทศ

สำหรับงานชิ้นแรกเป็นเทียนรูปดอกลีลาวดี ซึ่งได้ออร์เดอร์ครั้งแรกจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถยนต์อีซูซุ ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้น เริ่มขยายตลาดด้วยการทำส่งขายให้กับร้านในสวนจตุจักร และมีแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น อาทิ เทียนรูปผลไม้ต่าง ๆ เช่น ส้ม สตอเบอรี่ แอปเปิ้ล ชมพู เชอรี่ มังคุด ฯลฯ และนอกจากแบบใหม่แล้ว ก็ยังมีการปรับขนาดของเทียนให้เล็กลง ทำให้มีเทียนหลายขนาด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า
ดอกลีลาวดี
หลังจากเปิดตลาดที่จตุจักร และได้ออกงานแสดงสินค้า เริ่มมีลูกค้าต่างประเทศเข้ามาติดต่อ เพื่อรับไปจำหน่าย และว่าจ้างให้ผลิตตามแบบ ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาก็ผลิตเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว รูปแบบที่ต่างชาติให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็เป็นเทียนรูปซูชิ เพราะเป็นอาหารญี่ปุ่นที่ทั่วโลกรู้จัก

สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศหลักที่ผ่านมา จะได้ลูกค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ส่วนในเอเชียจะมีประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ออร์เดอร์ในการทำตลาดต่างประเทศลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีนี้ ออร์เดอร์ต่างประเทศหายไปกว่า 50% ทำให้ต้องหันมาปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ โดยการหันมาขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว
เทียนผลไม้ขนาดเล็ก
“สิ่งสำคัญที่เรายังสามารถยืนอยู่ตรงจุดนี้ กับธุรกิจทำเทียนได้ เพราะสินค้าของเราเน้นเรื่องของงานดีไซน์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าไปเรื่อย และบวกกับฝีมือ สีสัน คุณภาพ และราคา สินค้าดีราคาไม่แพง ทำให้เรายังคงแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนได้”

นายเสกสรรค์ เล่าถึง ผลงานการออกแบบเทียนชุดล่าสุด ที่ทำออกมาเพื่อหวังเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ และสิ่งสำคัญต้องการจะนำดีไซน์ใหม่นี้ออกไปโรดโชว์ สินค้าโอทอปในต่างประเทศ จึงนำเสนอไอเดียที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบของ ช้าง และต้นซุง
ช้างขนาดเล็ก เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
"จุดประสงค์ของการทำเทียนในรูปแบบของช้างและซุงในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่เราต้องการนำเสนอคอนเซ็ปต์ของความเป็นล้านนาออกไปสู่สายตาชาวโลก และช้างกับซุงก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นล้านนาได้ดีสุดในขณะนี้ ซึ่งรูปแบบต่อๆไปที่ออกมาก็ยังคงคอนเซ็ปต์ของความเป็นล้านนา คาดหวังว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็ต้องการของที่ระลึกเพื่อนำไปเป็นของฝาก ซึ่งเทียนของเรานอกจากจะเป็นของฝากได้แล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย ช่วยให้เขาตัดสินใจซื้อได้ง่าย”

สำหรับราคาสินค้าจะขึ้นอยู่กับขนาด และความยากง่ายในการทำงาน อย่างเช่น ช้าง ขนาดใหญ่ตัวละ 150 บาท หรือถ้าเป็นชุดซูชิ ราคาชุดละ 250 บาท ส่วนงานชิ้นเล็กราคาเริ่มต้น 10 บาท ขึ้นไป ส่วนกลุ่มลูกค้าของ Full Candleจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ซื้อเพื่อนำไปตั้งโชว์ ก่อนจะนำไปใช้งาน ซึ่งมีมากถึง 80% กลุ่มที่ 2 ซื้อเพื่อนำไปใช้งานจริง เพราะชื่นชอบในกลิ่นหอม
อโรมากลุ่มนี้มีประมาณ 20%
ช้างขนาดใหญ่ ราคา 150 บาท
นายเสกสรรค์ เล่าถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องปรับพนักงานออกไปกว่า 30 คน ปัจจุบันเหลือพนักงานที่ทำงานอยู่เพียง 7 ราย สาเหตุที่ต้องปรับลดคนงานเพราะออร์เดอร์ที่หายไปกว่า 50% ทำให้ต้องหันมาปรับเรื่องของงานดีไซน์และฝีมือให้ดีขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในกลุ่มระดับกลางขึ้นไปได้ นอกจากนี้ ในระยะหลังต้องคอยดูสถานการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ และการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือและรุกตลาดต่อไปในอนาคต

โทร.08-1025-8247
กำลังโหลดความคิดเห็น