หมอนขิดไทยโบราณ หลังได้รับการแต่งตัวใหม่ในรูปแบบสากล เกิดเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ระหว่างภูมิปัญญาไทยและการใช้งานที่เหมาะสม กลายมาเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก โดยผู้ประกอบการที่ถือเป็นหัวหอกนำสินค้าประเภทนี้ไปบุกตลาดโลกสำเร็จ ได้แก่ แบรนด์ Arthit ซึ่งเริ่มต้นจากรับจ้างผลิต ก่อนจะพัฒนาดีไซน์ ควบคู่สร้างแบรนด์ของตัวเองจนสามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้สำเร็จ
กิตติ เหมนิลรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอล อลิอันซ์ มาร์เกตติง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหมอนแบรนด์ Arthit เล่าแรงบันดาลใจว่า ส่วนตัวชอบเครื่องใช้ไทยๆ มานานแล้ว โดยเฉพาะหมอนยัดนุ่นแบบโบราณ ทั้งหมอนหนุน เบาะนั่งบนพื้น หรือหมอนสามเหลี่ยม เพราะรู้สึกว่า นั่ง และนอนสบาย อีกทั้ง เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทย
จากความชอบดังกล่าว เกิดเป็นธุรกิจจริงจังเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว โดยกิตติร่วมกับน้องสาว ว่าจ้างกลุ่มชาวบ้าน ทำหมอนขิดแบบโบราณไปขายส่งต่อให้ลูกค้าต่างประเทศ ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างสูง ในสายตาชาวต่างชาติ ถือเป็นสินค้าที่มีดีไซน์เก๋ เหมาะแก่การใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน
เมื่อตลาดให้การตอบรับด้วยดี กิตติต่อยอดธุรกิจโดยพัฒนาสินค้าให้ถูกใจลูกค้ายิ่งขึ้น พลิกโฉมหมอนให้มีสไตล์เป็นสากล ในขณะเดียวกัน สามารถคงเอกลักษณ์แบบดั่งเดิมไว้ได้ด้วย
“ผมอยากจะเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาให้มีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเอาของเก่ามาดัดแปลงรูปแบบใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนผ้าให้มีคุณภาพดีขึ้น ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นเหมาะกับสรีระของกลุ่มลูกค้าต่างชาติ รวมถึง ปรับรูปแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย เพิ่มเติมองค์ประกอบต่างๆเข้าไป ออกมาแล้วมีความเป็นสากล แต่ก็ยังมองเห็นความเป็นไทยอยู่ด้วย” กิตติ เสริม
ทั้งนี้ นับถึงปัจจุบัน ดีไซน์หมอนแบบต่างๆ มาแล้วกว่า 200 รูปแบบ ทั้งใบใหญ่และใบเล็ก เช่น หมอนอิง หมอนหนุน เบาะนั่ง เบาะนอน โซฟา เตียง ฯลฯ ทั้งหมดเป็นงานแฮนด์เมด ราคาสินค้าเริ่มต้นที่ 2 เหรียญสหรัฐ ถึงสูงสุด 1,000 เหรียญสหรัฐ
สำหรับผ้าที่ใช้ คือ ผ้าฝ้าย เสริมด้วยผ้าอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น ผ้าไหม เป็นต้น ขณะวัตถุดิบที่ใช้ยัดในหมอน เป็นอีกเอกลักษณ์ที่ยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน คือ จะยัดด้วยนุ่นเท่านั้น ไม่มีผสม หรือสอดไส้ด้วยหลอดพลาสติก กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใยสังเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น
“ส่วนตัวแล้ว ผมชอบเสน่ห์ของนุ่น ที่มีทั้งความนุ่มและแน่น แถมยังคงทน ที่สำคัญเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติแท้ๆ ถูกใจลูกค้าต่างชาติที่จะให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ น้อยรายจะใช้นุ่นทั้งหมด เพราะขั้นตอนการผลิตยุ่งยาก อีกทั้งต้นทุนผลิตสูงกว่าหลายเท่าตัว” เจ้าของธุรกิจ เผย
หลังจากสินค้าประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดต่างประเทศ ย่อมหนีไม่พ้นมีผู้ผลิตรายอื่น ทำสินค้ารูปแบบใกล้เคียงกันออกมาแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตระดับชุมชน ผลิตหมอนแบบใกล้เคียงกัน แต่ราคาถูกกว่าครึ่งออกสู่ตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่างๆ เหล่านี้แทบทั้งหมดไม่สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน เพราะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง อีกทั้ง ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานสินค้าให้สม่ำเสมอ และขาดประสบการณ์ในการส่งสินค้าไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งมีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างยิ่ง ทั้งขั้นตอน และเอกสาร รวมถึงคุมเข้มด้านมาตรฐานความปลอดภัย
“การส่งสินค้าไปแต่ละประเทศ จะมีกฎระเบียบแตกต่างกันไป โดยเฉพาะการส่งสินค้าที่เป็นวัตถุธรรมชาติอย่างนุ่น จะมีขั้นตอนการตรวจสอบโดยละเอียด ดังนั้น ถ้าขั้นตอนการผลิตไม่ได้มาตรฐานจริงๆ รวมถึง ไม่มีประสบการณ์ในการทำตลาดต่างประเทศมาก่อน ยากจะประสบความสำเร็จ จุดนี้ ทำให้คู่แข่งรายอื่นๆ ยังไม่สามารถจะมาเจาะตลาดต่างประเทศแข่งกับเราได้” เจ้าของธุรกิจ เผย
นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และเสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจ เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ได้สร้างแบรนด์ของตัวเองภายในชื่อ Arthit ด้วย จากเดิมผลิตตามคำสั่งซื้อ เพื่อขายส่งให้ลูกค้าต่างชาติอย่างเดียว
กิตติ ยอมรับว่า สินค้าประเภทนี้ การแข่งขันสูงมาก อีกทั้ง ไม่ว่าจะคิดแบบใหม่ใดๆ ขึ้นมา ไม่นานจะมีรายอื่นทำรูปแบบใกล้เคียงออกมาขายแข่ง ทางแก้ที่ดีที่สุด ต้องพยายามพัฒนาแบบใหม่ไปเรื่อยๆ อีกทั้ง การสร้างแบรนด์ของตัวเอง ก็มีส่วนช่วยเสริมการตลาดให้ลูกค้าจดจำได้ดีกว่าผู้ผลิตรายใหม่ๆ
สำหรับสัดส่วนการตลาดนั้น กิตติ เผยว่า 96% จะขายส่งต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลี เป็นต้น ส่วนตลาดในประเทศน้อยมาก เนื่องจากสินค้าคนไทยไม่ค่อยให้ความนิยมสินค้าประเภทนี้มากนัก
“ผมคิดว่า คนไทยคงคุ้นเคยกับหมอนแบบนี้มานานแล้ว จึงมองไม่ค่อยเห็นคุณค่ามากนัก หลายคน มองว่าเชยด้วยซ้ำ ถึงจะพัฒนารูปแบบใหม่ๆ แล้วก็ตาม ต่างกับชาวต่างชาติ เขาจะชื่นชอบในวัฒนธรรม และอยากจะมีสักชิ้นไว้ในบ้านของเขา” กิตติ กล่าวทิ้งท้าย
*************************************
โทร.0-2637-0960 , www.gam.thailand.com