xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิปัญญาไทยยังเสี่ยงถูกต่างชาติฮุบ จับตา 13 สมุนไพร-นวด-ฤาษีดัดตน ถูกลอบจดทะเบียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภูมิปัญญาไทยยังเสี่ยงถูกต่างชาติฮุบ สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาฯ จับตาเฝ้าระวังสมุนไพร-ภูมิปัญญาไทย 15 ชนิด หลังตรวจสอบพบมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพร เพียงแต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ วิ่งจ้างบริษัททนายเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการตรวจสอบ เอาผิดหากพบว่าละเมิดจริง จี้เร่งคลอดกฎกระทรวงคุ้มครองภูมิปัญญาไทย 

นางกัญจนา ดีวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการออกกฎหมายลูก หรือประกาศกระทรวงที่กำหนดให้มีจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองพืชสมุนไพรหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย แม้ว่าจะมีการยกร่างประกาศกฎกระทรวงแล้วแต่ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งใช้เวลากว่า 1 ปี แล้ว

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักคุ้มครองฯ ได้ทำการเฝ้าระวังพืชสมุนไพร 13 ชนิด เช่น มังคุด กวาวเครือ ขมิ้นชัน เป็นต้น ส่วนภูมิปัญญาไทย 2 ชนิด คือ นวดแผนไทย และฤาษีดัดตน รวม 15 ชนิด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีสมุนไพรของไทยหลายชนิดที่เข้าข่ายถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากหลายประเทศ แต่เป็นเรื่องยากที่จะสามารถดำเนินการเอาผิดหรือร้องเรียนได้ ส่วนฤษีดัดตนและนวดไทยชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างแน่นอน
 
 “ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ภูมิปัญญาไทยยังคงเสี่ยงจะถูกต่างชาติจดลิขสิทธิ์ตลอดเวลา ซึ่งจากการตรวจสอบ มีหลายประเทศที่มีการจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่อาจเข้าข่ายการละเมิดภูมิปัญญา แต่จากการตรวจสอบหลักฐานยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการละเมิดภูมิปัญญาจริงหรือไม่ อีกทั้งการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีการละเมิดนั้นเป็นเรื่องยาก เช่น บางกรณีเมื่อตรวจสอบกลับพบว่าเป็นการนำภูมิปัญญาไปต่อยอด ซึ่งไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคปัญหาหลายด้านทั้งภาษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตรวจสอบต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก อย่างก่อนหน้านี้ที่มีการตรวจพบชาวญี่ปุ่นนำคำว่า ฤาษีดัดตนไปจดทะเบียนนำไปใช้เป็นเครื่องหมายทางการค้า แต่โชคดีที่ประเทศไทยสามารถทักท้วงได้สำเร็จ”
 
นางกัญจนา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาขณะนี้ สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาฯ ได้ว่าจ้างบริษัททนายความเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ เพื่อให้ดำเนินการทางกฎหมาย หากตรวจพิสูจน์พบว่ามีการละเมิดภูมิปัญญาของไทย ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎเกณฑ์การจดทะเบียนที่ต่างกัน บางประเทศจะมีกำหนดระยะเวลาให้มีการทักท้วง

ซึ่งหากไทยไม่มีความรู้ความเข้าใจก็จะทำให้เสียเปรียบได้ ขณะเดียวกันในเวทีโลกมีการหารือกันเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจากแหล่งกำเนิด เช่น หากมีการนำขมิ้นชันพันธุ์ของไทยไปสกัดสารสำคัญหรือพัฒนาจนประสบความสำเร็จก็จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น