xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว SciencePark โคราช ดัน ผปก.อีสานใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.วิทย์ฯ เปิดตัว “อุทยาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” รุกพื้นที่ภาคอีสาน หวังผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ให้กว้างขวางมากขึ้น หนุนผู้ประกอบกาเอสเอ็มอี ยกระดับเทคโนโลยี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดอุตสาหกรรมไทยด้วย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ บริเวณวาไรตี้ฮอล์ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดให้มีการเปิดตัวอุทยานวิทยาศาสตร์ (SciencePark) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม(SMEs) และประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างได้รู้จักและเข้าถึงบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในการเปิดอย่างเป็นทางการ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการเปิดอุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้สู่ภูมิภาคและระดับท้องถิ่น จึงได้มีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ในส่วนภูมิภาคขึ้น และมอบหมายให้ TMC เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. แห่งนี้ ได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา นับถึงวันนี้ผ่านมาแล้วหนึ่งปีเต็ม และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. เป็นเครื่องมือในการยกระดับการผลิต เพิ่มมูลค่าและมาตรฐานให้กับสินค้าและอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ

สำหรับบริการต่างๆในอุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. ประกอบด้วย บริการด้านการวิจัยและพัฒนา , บริการจัดหาผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษาเฉพาะทาง เช่น ด้านการตลาด , การประกอบธุรกิจ ฯลฯ เพื่อเพิ่มผลผลิตและขีดความสามารถทางนวัตกรรมและทางเทคโนโลยี , บริการวิเคราะห์ทดสอบ ได้แก่ การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบในเชิงเทคนิค และการพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ หรือนำไปดำเนินการวิจัยต่อยอด เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และนำเทคโนโลยีไปพัฒนาชุมชน

นอกจากนี้ยังมีบริการด้านสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือวิจัย โดยให้เอกชนมาใช้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการวิจัยและพัฒนา โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน

สำหรับการให้บริการตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ดร.มัลลิกา สังข์สนิท ผู้จัดการสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่เข้ามาใช้บริการ มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และขนส่ง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร โดยการดำเนินงานในส่วนของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจได้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการใหม่ที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่เกิน 3 ปี จำนวน 18 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ ส่วนผู้ประกอบการที่เข้ามาขอรับบริการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีจากโครงการ iTAP มีจำนวน 23 ราย

ส่วนการเข้ามาใช้บริการให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญามีกว่า 72 ราย และมีการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 25 ราย ทางด้านการให้บริการของโครงการคลินิกเทคโนโลยี ฯ ( LAB ) มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการด้านวิเคราะห์ทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เป็นจำนวนกว่า 500 ราย และคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการต่างๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์-มทส. อย่างต่อเนื่องและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับผู้สนใจและต้องการประกอบธุรกิจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร. 044-224823 หรือ www.sp.sut.ac.th อีกทั้ง สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เครือข่าย มทส. ติดต่อได้ที่หมายเลข 044-224-921 , 044-224-947 แฟ็กซ์ 044-224-814 หรือ www.technopolis.sut.ac.th/itap
กำลังโหลดความคิดเห็น