เมื่อย่างเข้าสู่หน้าร้อน ทั้งที่ๆ คนไทยได้ผ่านช่วงเย็นสบายได้เพียงไม่นาน สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวที่กลับมาอีกครั้ง ทำให้หลายคนต้องวิ่งหาอะไรเย็นๆ มาช่วยคลายร้อนอย่างเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการหาไอศกรีมมารับประทาน ที่นอกจากจะช่วยดับร้อนลงได้บ้างแล้ว ยังได้เพลิดเพลินไปกับรสชาติความหอมหวาน มัน สดชื่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไอศกรีม
ซึ่งไอศกรีมที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน โดยเฉพาะคนกรุง ย่านเตาปูน คงหนีไม่พ้น ไอศกรีมรสกะทิสด ของร้าน ทิพยรส ที่เปิดให้บริการมายาวนานกว่า 30 ปี จนปัจจุบันบรรดาลูกๆ ของเจ้าของร้านนี้ต่างแยกย้ายไปสานต่อธุรกิจไอศกรีมของผู้เป็นพ่อกันทุกคนในแบรนด์ที่แตกต่างกันออกไป และหนึ่งในนั้นคือ “ไอศกรีมบางกอก” ขอยึดทำเลบนถนนแจ้งงวัฒนะ ตรงข้ามซอฟแวร์ ปาร์ค ย่านพนักงานออฟฟิศ และผู้คนสัญจร โดยเน้นไปที่ความหลากหลายของไอศกรีมที่มีให้ลูกค้าได้เลือกลิ้มลองมากกว่า 20 รสชาติ
ธนกฤต กาญจโนนันท์ ภรรยาเจ้าของร้านไอศกรีมบางกอก คือ นายสมชาย กาญจโนนันท์ ทายาทไอศกรีมทิยพรส เล่าว่า เมื่อผู้เป็นสามีได้ตัดสินใจออกมาทำไอศกรีมขายเอง โดยใช้ชื่อว่าไอศกรีมบางกอก ตนเองก็มาดูแลด้านการขายโดยตรง ส่วนหน้าที่การผลิตเป็นของสามี เพราะเรียกได้ว่าอยู่กับไอศกรีมมาเกือบทั้งชีวิต แม้ผู้เป็นพ่อจะไม่เคยสอนทำไอศกรีมเลยก็ตาม แต่ด้วยความใฝ่รู้ และเห็นขั้นตอนการผลิตมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ขั้นตอนการทำไอศกรีมไม่ยากเกินไปนัก ที่เพียงเห็นวัตถุดิบที่แปลกใหม่ก็คิดว่าวัตถุดิบนี้สามารถนำมาทำเป็นไอศกรีมที่มีรสชาติอร่อย ถูกปากลูกค้าได้
“แม้ร้านเราจะเป็นแบรนด์ใหม่ที่ในช่วงแรกลูกค้ายังไม่ค่อยรู้จักมากนัก แต่ด้วยความหลากหลายของไอศกรีมที่เน้นเป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็นไอศกรีม 2 ประเภท คือ ไอศกรีมที่มีนมผสมอยู่ และไอศกรีมโยเกิร์ต สำหรับคนกลัวอ้วน ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่นำมาผลิตคือผลไม้ที่มีตลอดทั้งปี เช่น กล้วยหอม ส้ม มะนาว แตงโม ฟรุ๊ตสลัด ลิ้นจี่ ในขณะที่ไอศกรีมน้อยหน่าจะขายในช่วงที่มีน้อยหน่าออกเท่านั้น ส่วนรสชาติยอดนิยม คือ กะทิสดรวมมิตร ชาเย็น นมเย็น และชาเขียว ซึ่งโดยรวมแล้วเรามีไอศกรีมประมาณ 20 รสแล้ว”
เห็นความตั้งใจของเจ้าของเจ้าของร้านนี้ ที่ไม่หยุดนิ่งในการสรรหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาให้กับลูกค้าได้ลิ้มลอง แต่ใช่ว่านายสมชาย จะไม่มีปรัชญาในการคิดรสชาติใหม่ๆ ซึ่งสมชาย บอกว่าการคิดรสชาติใหม่ๆ ให้กับลูกค้าถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ลูกค้าไม่เกิดความเบื่อหน่าย และทำให้ธุรกิจของร้านดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อคิดรสชาติใหม่ๆ ออกมาได้แล้ว อย่าให้ลูกค้า “เป็นหนูทดลองยา” เพราะถือเป็นความผิดมหันต์ อาจส่งผลต่อธุรกิจในอนาคตได้ เพราะหากรสชาติที่ลูกค้าได้ชิมแล้วไม่ประทับใจในครั้งแรก โอกาสในการกลับมาซื้อซ้ำจะยากมาก และเกิดการบอกต่อ ดังนั้นทุกรสชาติที่เกิดมาใหม่นั้น ทางเจ้าของร้านควรที่จะชิมรสชาติ พร้อมปรับปรุงแก้ไขให้มั่นใจก่อนที่จะทำการขายอย่างจริง
สำหรับราคาอยู่ที่ 15 บาท/ถ้วย หรือตกเพียงลูกละ 5 บาท แต่หากใส่เครื่องราคาจะเพิ่มขึ้นไปที่ 20 บาท/ถ้วย ซึ่งทางร้านมีบริการจัดใส่กล่องไว้บริการเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านอีกด้วยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเพื่อเก็บความเย็นไว้ได้นาน 2 ชั่วโมง (ในที่ร่ม) นอกจากนี้ยังรับทำไอศกรีมเพื่อการจัดเลี้ยงด้วย
“ในฐานะที่ผมอยู่ในวงการของไอศกรีมมาหลายสิบปี ผมมองว่าธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะไอศกรีมถือเป็นของหวานที่ไม่สามารถทำกินเองที่บ้านได้ต้องซื้อกินเท่านั้น ซึ่งหากเราทำให้รสชาติออกมาถูกปากลูกค้า มีความหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือกสรร ก็ถือเป็นทางรอดหนึ่งให้ธุรกิจการขายไอศกรีมอยู่รอด” นายสมชาย กล่าวทิ้งท้าย
***สนใจติดต่อ 08-7038-7696***