xs
xsm
sm
md
lg

ก.พาณิชย์ ชงตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
รมช.พาณิชย์ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อจะฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ระบุพร้อมตั้งกองทุนช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ด้าน “โฆสิต” แนะเอสเอ็มอีไทยต้องลดพึ่งพาต่างชาติ หันมามุ่งตลาดภายในมากยิ่งขึ้น พร้อมหาทางลดต้นทุน ปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานสัมมนา “หนุนธุรกิจไทย สู้วิกฤติโลก” ว่า รัฐบาลต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รับมือปัญหาวิกฤติและสามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมจะพัฒนาธุรกิจ เพื่อขยับสู่การเป็นผู้ประกอบการระดับขนาดใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาที่เอสเอ็มอี ประสบและร้องเรียนมากที่สด คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ทำให้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะยอดขายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว ดังนั้น หากธุรกิจเอสเอ็มอีจะอยู่ได้ ต้องสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายด้วยการตั้งกองทุนเพื่อเอสเอ็มอี โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งออกได้ลดลง เอสเอ็มอีไทยต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมด้วย

ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเอสเอ็มอี ในปีนี้ กรณีที่เลวร้ายที่สุด การส่งออกจะหดตัวร้อยละ 10.3 การนำเข้าหดตัวร้อยละ 13.5 การจ้างงานจะลดลง 299,136 คน จากปี 2551 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเอสเอ็มอี ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.45

ส่วนกรณีที่มองในแง่ดี การส่งออกของเอสเอ็มอี ขยายตัวร้อยละ 0.4 นำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.8 ส่งผลให้การค้าสุทธิเกินดุล 3,844 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จ้างงานเพิ่มขึ้น 13,148 คน คาดว่า จีดีพี เอสเอ็มอี ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2.37

ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จึงกระทบต่อการส่งออกของเอสเอ็มอีไทย ดังนั้น ต่อไปการดำเนินธุรกิจโดยหวังพึ่งพาการค้าการลงทุนกับต่างประเทศคงต้องน้อยลง และต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ขณะที่รัฐบาลต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายปรับแผนตลาดให้เหมาะสมกับสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น