xs
xsm
sm
md
lg

เค้กลำไย เจ้าแรกลำพูน สูตรขนมมัดใจจากฝีมือชาวสวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตเค้กลำไย
จากผลผลิตลำไยที่ล้นตลาดแทบทุกปี ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ชาวบ้านขาดทุนย่อยยับ บางรายถึงกับท้ออยากเลิกอาชีพชาวสวนลำไยไปก็มีเหมือนกัน แต่ด้วยเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีผู้นำที่ดี จึงหาอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน เพื่อให้มีรายได้ทดแทนจากการปลูกลำไย ซึ่งก็ยังไม่ทิ้งความคิดที่จะนำลำไยมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า หวังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน

จนกระทั่ง นางประไพ สุภามงคล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเหรัญญิก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยกานเบเกอรี่ ได้ตัดสินใจเรียนการทำเบเกอรี่ขั้นพื้นฐาน โดยเน้นไปที่การทำเค้ก เพื่อมาฝึกสอนให้กับชาวบ้านในกลุ่มฯ จากเดิมที่ชาวบ้านประกอบอาชีพหลัก คือ การทำสวน ทำไร่ รับจ้างมัดหอมแดง-กระเทียม ซึ่งได้รับค่าจ้างแบบรายวัน จนเมื่อปี 2544 ที่ผ่านมาราคาลำไยในท้องถิ่นตกต่ำมาก ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้จากการขายลำไย

 
แพคเกจปรับปรุงให้สินค้าดูน่ารับประทาน
“เมื่อเราได้ไปเรียนทำเบเกอรี่ และมาถ่ายทอดให้กับชาวบ้านนั้น ในช่วงแรกเป็นการทำเค้กแบบธรรมดาเพื่อขายในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่เมื่อราคาลำไยตกต่ำลงมาก เราจึงคิดนำลำไยมาทำเป็นเค้ก โดยใช้ลำไยอบ พันธุ์สีทองเป็นวัตถุดิบหลัก หวังเพิ่มมูลค่าผลผลิตลำไยให้กับคนในชุมชน โดยใช้เวลาลองผิดลองถูกมาเกือบปี จนได้สูตรที่ลงตัวอย่างในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค ในขณะที่เนื้อเค้กมีความนุ่ม หอมหวาน ของเนื้อลำไยสีทอง ที่ถือเป็นผลผลิตที่ขึ้นชื่อในจังหวัดลำพูน”

เมื่อสูตรเค้กลำไยอบสีทองลงตัว ประไพ จึงรวบรวมชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยกานเบเกอรี่จำนวน 107 คน เรื่องลงหุ้นกันคนละ 50 บาท (ปัจจุบันมีหุ้นรวม 236 หุ้น) เพื่อหาเงินทุนมาซื้ออุปกรณ์ในการทำเค้ก และวัตถุดิบ โดยมีกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในส่วนของการผลิตประมาณ 10 คน ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกในจ.ลำพูน ที่หยิบเอาลำไยสีทองสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด

สำหรับจุดเด่นของเค้กลำไยสีทองอบอยู่ที่ความนิ่มของเนื้อเค้ก รสชาติดีไม่หวานจนเกินไป เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพและรสชาติให้คงที่ ทำให้ลูกค้าไม่ผิดหวังเมื่อซื้อไปรับประทาน ไม่ใช้สารกันบูด หรือสารเคมีใดๆ ที่จะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้สินค้าสามารถเก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 15 วัน แต่หากไม่นำเข้าตู้เย็นจะเก็บได้ประมาณ 6 วัน โดยที่ผ่านมาลูกค้าซื้อนำไปเป็นของฝาก และใช้เป็น Coffee Break ตามหน่วยงานราชการ ซึ่งทางกลุ่มฯ ก็มีทีมงานพร้อมจัดของว่างเหล่านี้ให้ด้วย
เนื้อเค้กนิ่ม ไม่หวานจนเกินไป
ด้านนางสุพิน สุวรรณแพรก ผู้ช่วยเหรัญญิก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนห้วยกานเบเกอรี่ เล่าถึง ธุรกิจเค้กลำไยสีทองอบ ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน ว่า เมื่อทางชุมชนได้เริ่มทำเค้กลำไย ออกจำหน่าย ทำให้ชาวบ้านในกลุ่มฯ ที่เป็นสมาชิก และชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเข้ามาช่วยงานด้านการผลิตเค้กลำไย และการรับไปเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งชาวบ้านบางรายยึดอาชีพการขายเค้กลำไยของกลุ่มฯ เป็นอาชีพหลักเลยทีเดียว หลังจากที่เค้กลำไยของกลุ่มฯ ได้รับมาตรฐานผลิตชุมชน (มผช.) อย. และสินค้าโอทอป ในขณะที่ชาวบ้านที่ทำงานด้านการผลิต จะมีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาท/เดือน (กรณีที่มาทำงานทุกวันตามวันและเวลาที่กำหนด)

ปัจจุบันเค้กลำไยสีทองอบ ขายในราคาขายปลีกอยู่ที่กล่องละ 30-50 บาท และขายในแพคเกจถุงอยู่ที่ 20 บาท (บรรจุ 4 ชิ้น) โดยจะผลิตตามออเดอร์ ส่งผลให้ขณะนี้ทางกลุ่มมียอดขายตกเดือนละ 200,000 บาท (ยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่างๆ)

แม้จะเป็นเพียงความคิดที่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้เพิ่ม แต่กลับกลายเป็นการสร้างความยั่งยืนในอาชีพ และการดำรงชีวิตกับชาวบ้านห้วยกาน อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ได้อย่างภาคภูมิใจ โดยสมาชิกในกลุ่มฯ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนรู้สึกภูมิใจในธุรกิจนี้มาก เพราะไม่เพียงแต่สร้างความยั่งยืนให้กับชาวบ้านและคนในครอบครัวแล้ว ธุรกิจนี้ยังสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดลำพูนอีกด้วย หลังจากที่ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ และกำลังเข้าสู่เวทีระดับประเทศ ในไม่ช้า ซึ่งชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ไม่เคยคิดฝันว่าจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้

***ปัจจุบันเค้กลำไยสีทองอบ ของวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยกานเบเกอรี่ มีจำหน่ายที่ร้านประไพพร ข้างเซเว่นบ้านห้วยกาน ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน หรือโทร 053-591-046, 08-9553-8809***
กำลังโหลดความคิดเห็น