กสิกรฯตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้โต 8-10%ลดลงจากปีก่อนที่โต 16% ระบุเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายจีดีพีที่ที่ 1.5-2% หันโกยรายได้ค่าธรรมเนียมชดเชย ตั้งเป้าโต 40% ชูกลยุทธเสนอผลิตภัณฑ์เสริมสภาพคล่อง-การบริหารจัดการเงินสด ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับ 3% แต่เริ่มเห็นแววเพิ่ม พร้อมจัดตั้งหน่วยงานดูแลใกล้ชิด
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า แผนการปล่อยสินเชื่อของสายงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)นั้น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่ 8-10% โดยเป้าหมายดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2% เป้าหมายดังกล่าวยังถือว่ามีการเติบโตที่ต่ำกว่าในปี 2551 ที่ผ่านมา ที่มีการขยายตัวอยู่ที่ 16% ปัจจุบันมีฐานสินเชื่ออยู่กว่า 300,000 ล้านบาท
ส่วนจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารมีอยู่จำนวน 700,000 ราย แต่มีเพียง 25% เท่านั้นที่ใช้บริการสินเชื่อ ส่วนที่เหลือ 75% ก็จะใช้บริการอย่างอื่นแต่ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อกับธนาคาร เนื่องจากในปีที่ผ่านมาคุณสมบัติอาจจะยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่ธนาคารได้กำหนดไว้ ทำให้ในปีนี้โอกาสในการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีนั้นจึงยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ส่วนของธนาคารก็ยังมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการปล่อยสินเชื่อและคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่การอนุมัติสินเชื่อนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของเอสเอ็มอีและความเป็นไปได้ของธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายจะให้มีการเติบโตสูงถึง 40% จากปีก่อนมีการขยายตัวอยู่ที่ 20-30% โดยการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมนั้นจะมาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การบริหารจัดการเงินสด (Cash Management)
"ขณะนี้ทุกธุรกิจเริ่มมีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่องและผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าก็ต้องการที่จะเปิดตลาดใหม่ อีกทั้งยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับฐานะของคู่ค้า ดังนั้นธนาคารก็อาจเข้าไปให้บริการเรื่องของการเปิดแอลซี ซึ่งก็จะทำให้ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามา ส่วนการดูแลลูกค้านั้นเราก็จะสนับสนุนในการให้ความรู้ เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวการให้ความรู้กับผู้ประกอบการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ"
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนหักสำรอง (เอ็นพีแอล) นั้นขณะนี้อยู่ที่ต่ำกว่า 3% และเมื่อหักสำรองแล้วอยู่ที่ 0.5% โดยในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาได้มีสัญญาณของการชำระล่าช้าเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสภาพคล่องชั่วคราวเพราะคู่ค้ามีการชำระเงินช้า โดยธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการยืดหนี้ ก็ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงเดินต่อไปได้ โดยเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับที่ต่ำเนื่องจาก ลักษณะของธุรกิจเอสเอ็มอีมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวจากผลกระทบต่าง ๆค่อนข้างสูงและมีการกระจายตัวไปยังหลายอุตสาหกรรม
อีกทั้งธนาคารมีการคัดเลือกลูกค้าโดยดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมดมาประเมินในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงธนาคารมีการติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยได้ตั้งหน่วยงานติดตามคุณภาพของลูกหนี้ที่ได้ตั้งขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา
"การตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลหนี้ ถ้าลูกค้าจ่ายช้า 1 วันก็จะมีการติดตามสอบถามทันที ทำให้จากจำนวนหนี้ที่เริ่มผิดนัดชำระเมื่อเราติดตามใกล้ชิดก็กลับมาเป็นหนี้ดีทันทีประมาณ 50% ส่วนที่เหลือซึ่งมีการผิดนัดชำระจนกลายเป็นเอ็นพีแอลนั้น 25%ใช้เวลา 1 ปีก็สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ส่วนที่เหลือคือจะใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 1 ปี"
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการของรัฐบาลที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คงจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะการกระตุ้นดังกล่าวจะช่วยในเรื่องของกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคและยังมีส่วนที่จะมาเสริมคือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มจะลดลงได้อีก โดยในการประชุมของคณะนโยบายการเงิน (กนง.)นั้นก็น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยลงประมาณ 0.5-1% ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของเอสเอ็มอีต่ำลงตามไปด้วย
**กสิกรไทยเปิดโครงการ K SME Care ปี 52**
นายปกรณ์ กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้พัฒนาโครงการส่งเสริมการจัดการที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ K SME Care มาอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการอบรมใน 7 รุ่นที่ผ่านมา รวมผู้เข้ารับการอบรมแล้วกว่า 3,400 ราย โดยนอกจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรแล้ว ยังสามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ จากนวัตกรรมในการทำธุรกิจในรูปแบบของ Online Business Matching บนเว็บไซต์ www.ksmecare.com ซึ่งเป็นช่องทางในการติดต่อทำธุรกิจจริงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่ต้องอาศัยความรู้ด้านเทคนิคที่ซับซ้อนและไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นบนเว็บไซต์เป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่นำเสนอการบริการในรูปแบบดังกล่าว
สำหรับในปี 2552 ธนาคารจะเปิดรับผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมอีก 3 รุ่น โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพิ่มอีก 5 แห่ง จากเดิมที่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ 7 แห่งทั่วประเทศทุกภูมิภาค ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี) มหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตชลบุรีและนนทบุรี) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ E (Education) ภายใต้โครงการ K SME Care ในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรความรู้หลากหลายแขนงให้แก่ ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ในรูปแบบของ Training Series เปิดอบรม 8 สัปดาห์ รับผู้เข้าอบรมประมาณ 800 รายต่อ 1 รุ่น
ทั้งนี้ ในปี 2552 ธนาคารกสิกรไทยและมหาวิทยาลัยพันธมิตรชั้นนำต่างๆยังวางแผนงานในการลงพื้นที่เพื่อรับทราบความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย โดยผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมในรุ่นแรก จะประกาศผลในวันที่ 21 ม.ค. และเริ่มอบรมในวันที่ 30 ม.ค.ถึง 3 เม.ย.นี้