จากความพยายามแก้ปมราคาของสดจากทะเลต่างๆ ผันผวน นำมาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลพร้อมรับประทาน และเพื่อฉีกให้แตกต่างจากสินค้าของฝากที่มีในตลาดจำนวนมากออกไป ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ชาวเล” เลือกจะวางตำแหน่งเป็นขนมกินเล่นกลุ่ม “สแน็ก” สำหรับขายลูกค้าตลาดบน
ธนะรักษ์ หริรัตน์เสรี เจ้าของกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มารีนเนอร์ ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป “ชาวเล” เล่าว่า ครอบครัวทำธุรกิจเป็นตัวแทนขายส่งอาหารทะเลสด อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร มากว่า 20 ปี กระทั่ง เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ได้ต่อยอดธุรกิจโดยเสริมธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบสแน็ก
“จากที่ผมอยู่ในวงการขายส่งอาหารทะเลสดมานาน ทำให้รู้ดีว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสดมีข้อด้อยจากความผันผวนของตลาด บางช่วง ของสดมีออกมามาก จนล้นตลาด ราคาขายก็ตกต่ำ หรือของสดที่ขนาด หรือรูปร่างไม่ได้ตามที่ตลาดต้องการ ก็จะขายไม่ได้ราคา ทำให้วัตถุดิบเหล่านี้กลายเป็นของเหลือในตลาดอย่างน่าเสียดาย ผมจึงพยายามศึกษาข้อมูล และหาประสบการณ์ จนถึงจุดที่พร้อม จึงเริ่มขยายธุรกิจนำวัตถุดิบที่เหลือในตลาดเหล่านี้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่า” ธนะรักษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ แน่นอนว่า ย่อมหนีไม่พ้นสินค้าอาหารแปรรูปที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดจำนวนมาก เป็นที่มาของการคิดต่าง พยายามแปรรูปของสดจากทะเลเป็นขนมกินเล่นแบบ “สแน็ก” ภายใต้แบรนด์ “ชาวเล” มุ่งเจาะลูกค้าตลาดบน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งมีกำลังซื้อสูง
“ผมพยายามจะหาตลาดใหม่ๆ หนีจากสินค้าอาหารทะเลแปรรูปทั่วไปที่เน้นเป็นของฝาก ซึ่งรูปแบบเหมือนกันไปหมด จนแทบไม่รู้ว่า แต่ละเจ้าแตกต่างกันอย่างไร โดยหันมาวางตำแหน่งสินค้าใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต่างออกไป เน้นเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวตลาดบนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์เป็นสากล มีความเอเชียสูง อีกทั้ง มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน” เจ้าของธุรกิจ เผย
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ชาวเล ราคาขายจะสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาดกว่า 1 เท่าตัว เริ่มต้นที่ 30-80 บาท มีประมาณ 10 รายการ เช่น ปลาหมึกอบกรอบ ปูอบกรอบ กุ้งอบกรอบ ปลาเกล็ดขาวอบกรอบ และน้ำพริกปลาดุกผักพริกขิง และน้ำพริกปลาสลิด เป็นต้น
ด้านการผลิตนั้น เริ่มแรกว่าจ้างโรงงานขนาดใหญ่เป็นผู้ผลิตให้ กระทั่ง สะสมประสบการณ์พร้อม จึงตัดสินใจลงทุนกว่า 5 ล้านบาท สร้างโรงงานของตัวเอง ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสงคราม
ธนะรักษ์ ระบุว่า หัวใจสำคัญของแบรนด์ “ชาวเล” คือ ต้องการสร้างความรู้สึกใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค จากเดิมมองของสดทะเลแปรรูปเป็นหมวดอาหารคาวหรืออาหารหลัก มาสู่หมวดขนมกินเล่นได้ทุกทีทุกเวลา
“โจทย์ทางธุรกิจของผม อยู่ที่การปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้รับรู้ว่าแบรนด์นี้ เป็นขนมกินเล่นแบบสแน็กทำจากของทะเลสดๆ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะตำแหน่งการตลาดสินค้าตัวนี้ อยู่กึ่งกลางระหว่างสแน็กบรรจุซองที่คนทั่วไปคุ้นเคย อย่างเช่น ปลาหมึกบ่น และปลาเส้น กับกลุ่มของฝากจากทะเล ส่วนด้านราคา แม้จะค่อนข้งสูง แต่พยายามให้ผู้ซื้อรู้สึกคุ้มค่า จากคุณภาพ และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสูง” เจ้าของ กล่าว
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ “ชาวเล” ช่องทางตลาด กว่า 90% จะขายส่งตามร้านสินค้าที่ระลึก ตามแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ทั้งทางภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึง ร้านสินค้าที่ระลึกในสนามบิน นอกจากนั้น ได้เพิ่มเติมช่องทางตลาด ขายผ่านอินเตอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ www.talaytalent.com รวมถึง ออกงานแสดงสินค้าสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น
***********
โทร.08-1822-4067 หรือ www.talaytalent.com