สถาบันอาหาร เตือนเอสเอ็มอีหมวดอาหาร เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต รับมือกฎหมายใหม่เอาผิดหนักผู้ผลิตสินค้าไม่ปลอดภัยที่จะมีผลใช้ตั้งแต่ 20 ก.พ. 2552 เป็นต้นไป
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 (Product Liability Law : P/L Law) จะมีผลบังคับใช้ โดยกฎหมายดังกล่าว จะใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย โดยไม่คำนึงว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อความเสียหายของสินค้า ซึ่งมีโทษหนักทั้งทางแพ่งและอาญา
ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ตราขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยบังคับใช้กับสินค้าสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดที่ผลิตหรือนำเข้า ซึ่งรวมถึงผลิตผลทางอาหารด้วย ซึ่งในต่างประเทศ มีกฎหมายนี้ใช้มานานแล้ว และมีกรณีฟ้องร้องเมื่อได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย เช่น ในปี 2544 ที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภค 12 คน ฟ้องบริษัทผลิตนมแห่งหนึ่ง ข้อหาได้รับความเจ็บปวดจากอาหารเป็นพิษจากการดื่มนมไขมันต่ำปนเปื้อนเชื้อโรค โดยศาลตัดสินให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายกว่า 1.1 ล้านเยน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการหมวดอาหารรายใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะการผลิตได้มาตรฐานระดับส่งออก แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ผลิตระดับเอสเอ็มอีด้านอาหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อาหารแปรรูป และร้านอาหารริมทาง ที่ยังมีจุดอ่อนด้านการผลิต อาจถูกเอาผิดจากกฎหมายดังกล่าวได้ ดังนั้น ควรเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน และความสะอาดสูงขึ้น