xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐออกมาตรการอัดฉีดเงิน SMEs-รากหญ้า รับมือพิษแฮมเบอร์เกอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โอฬาร  ไชยประวัติ  รองนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลคลอด 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อัดฉีดเงิน รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งปล่อยกู้กว่า 6 หมื่นล้านบาทช่วย SMEs ด้านการท่องเที่ยว ขยายฐานสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐ และสนับสนุนสินค้ารากหญ้าโอทอป เป็นต้น

นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลก ได้ออก 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ 1 ใน 6 มาตรการ จะเร่งรัดรายได้ส่งออกและการท่องเที่ยว เพื่อให้การส่งออกและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 โดยให้การส่งออกทำรายได้เพิ่มขึ้น 300,000 ล้านบาท ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท

สำหรับการท่องเที่ยว แนวทางช่วยเหลือ คือ ด้านสินเชื่อ วงเงิน 60,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 14 กลุ่ม ปรับปรุงสถานที่และโครงการต่าง ๆ การจัดงานไทยแลนด์แกรนด์เซลล์ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี ด้วยการดึงสายการบิน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวร่วมจัดงานโดยเฉพาะชูมาตรการลดแลกแจกแถม ซื้อ 1 แถม 1 เพื่อดึงรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่การส่งออก กระทรวงพาณิชย์จะขยายตลาดในเอเชียและเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ซึ่งยังพอมีกำลังซื้อ โดยใช้ทีมไทยแลนด์ซึ่งมีผู้บริหารภาครัฐและเอกชนร่วมกันเจรจาการค้าการลงทุน

นอกจากมาตรการดังกล่าว อีก 5 มาตรการได้แก่ มาตรการด้านตลาดทุน กระทรวงการคลังเห็นชอบขยายวงเงินการซื้อกองทุน RMF และ LTF จาก 500,000 เป็น 700,000 บาท การดึงกองทุนแมชชิ่งฟันด์ กองทุนภาคเอกชน และกองทุนต่าง ๆ รับมือการขายหุ้นของต่างชาติที่มีในไทย 110,000 ล้านบาท การจัดตั้งกองทุนโดยความร่วมมือของเอกชนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวม 2,000 ล้านบาท และการจัดตั้งกองทุนแมชชิ่งฟันด์ ของ ตลท.กับสถาบันการเงิน รวม 10,000 ล้านบาท การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ซื้อหุ้นคืน 30,000 ล้านบาท

มาตรการดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอประมาณ 1 ล้านล้านบาท และจะดูแลให้มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจะพยายามให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ จะขยายสินเชื่อเพิ่มจาก 1.1 ล้านล้าน เป็น 1.15 ล้านล้านบาท หรือเป็น 50,000 ล้านบาทให้เอสเอ็มอีรายย่อย

มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 180,000 ล้านบาท การส่งเสริมกองทุนหมู่บ้าน ดูแลและส่งเสริมสินค้าโอทอป

มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนจาก 250, 000 เป็น 350,000 ล้านบาท โดยเร่งรัดลงทุนระบบรถไฟฟ้า 60,000 ล้านบาท การพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ 10,000 ล้านบาท และการลงทุนด้านพลังงานอีก 30,000 ล้านบาท

และมาตรการประชาคมการเงินเอเชีย เพื่อความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียน โดยจะมีแนวทางหารือเจรจาการขยายความร่วมมืออาเซียน +6 ซึ่งเป็นความริเริ่มใหม่ในการสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เป็นศตวรรษใหม่ของเอเชีย ด้วยการเสนอให้อาเซียนร่วมมือกับ ออสเตรเลีย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 5.1 และปี 2552 ร้อยละ 4
กำลังโหลดความคิดเห็น