ขนมอาลัวแม้ต้นกำเนิดแท้จริง จะมาจากประเทศโปรตุเกส แต่เนื่องจากชาวไทยคุ้นเคยกับขนมชนิดนี้มายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ทุกวันนี้ อาลัวจึงกลายเป็นขนมสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว
สำหรับวิธีการทำขนมอาลัวนั้น ในปัจจุบันทั่วไปหลังกวนส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว ขั้นตอนการทำเป็นเม็ดจะใช้ที่แต่งหน้าเค้กบีบแล้วหยอด แต่สำหรับผู้ประกอบการรายหนึ่งใน จ.เพชรบุรี กลับเลือกคงวิธีปั้นด้วยมือ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมแบบโบราณ แม้จะเสียเวลามาก แต่ก็ช่วยให้ได้ขนมอาลัวที่มีคุณสมบัติเด่น แถมยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เสริมให้กิจการประสบความสำเร็จอย่างสูง
ลาวัลย์ สังข์นิมิต เจ้าของธุรกิจ ในชื่อเครื่องหมายการค้า “อลัวชาววัง คุณแหม่ม” เล่าว่า สูตรและวิธีทำอาลัวเป็นของคุณยาย ที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ โดยทำขายในละแวกบ้านมายาวนาน ซึ่งตัวเธอคุ้นเคย และซึมซับวิธีทำตั้งแต่จำความได้
สำหรับเคล็ดลับความอร่อยของอาลัวโบราณ มาจากส่วนผสมใช้วัตถุดิบเกรดเอ ไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี น้ำตาล และกะทิ ไม่ใส่สารกันบูดหรือกันเสียใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนขั้นตอนเคี่ยววัตถุดิบให้เข้ากันจะใช้เตาถ่าน ช่วยให้มีกลิ่นหอมมากกว่าเคี่ยวด้วยเตาแก๊ส และที่สำคัญปั้นเป็นเม็ดด้วยมือ ซึ่งจะทำให้เนื้อขนมมีเปลือกบางกรอบ เมื่อใส่เข้าปากแล้วแทบจะสลายไปในทันที ส่วนเนื้อในนุ่มหนึบ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวจะหาไม่ได้หากทำโดยใช้ที่บีบเค้ก เพราะจะทำให้เปลือกนอกแข็งและหนา
“วิธีปั้นด้วยมือทั้งยาก และเสียเวลามาก เทียบกับใช้ที่บีบเค้ก หากปั้นด้วยมือ ครึ่งชั่วโมงจะทำได้แค่ 1 ถาด หรือประมาณ 480 เม็ด ขณะที่ใช้ที่บีบเค้กเวลาเท่ากัน จะทำได้กว่า10 ถาด นอกจากนั้น การปั้นด้วยมือ ยังมีต้นทุนด้านแรงงานสูงมาก” ลาวัลย์ อธิบาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อด้อยต่างๆ ทว่า ด้วยเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็นผู้ผลิตรายเดียวใน จ.เพชรบุรีที่อนุรักษ์วิธีโบราณเช่นนี้ ช่วยให้สินค้าได้รับความนิยมอย่างสูงจากลูกค้า ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 10,000 กล่องต่อเดือน แถมยังได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอปเด่นประจำจังหวัด
ทั้งนี้ “อลัวชาววัง คุณแหม่ม” มีทั้งหมด 5 สี ประกอบด้วยสีขาวต้นตำรับ สีเขียวจากผสมใบเตย สีน้ำตาลจากผสมโกโก้ สีชมพูจากสีผสมอาหาร และสีน้ำเงินจากผสมอัญชัน สามารถเก็บไว้กินได้นาน 2 สัปดาห์ ราคาขายขนาด 250 กรัม จำนวน 88 เม็ด ขายส่งที่ 35 บาท ส่วนขายปลีก 40-45 บาท (แล้วแต่ตัวแทนจำหน่าย) โดยเฉลี่ยเหลือกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 7 บาทต่อกล่อง ด้านช่องทางจำหน่ายผ่านร้านขายสินค้าที่ระลึกใน จ.เพชรบุรี และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึง มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ เป็นต้น
ณ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการขนมไทยรายนี้ นับว่าประสบความสำเร็จระดับน่าชื่นใจ ทว่า ก่อนจะมีวันนี้ ลาวัลย์เล่าให้ฟังว่า ระยะแรกที่มารับช่วงจากคุณยาย เมื่อปี 2539 ค่อนข้างลำบากมาก เพราะขายแค่ในตลาดสดเมืองเพชรบุรี ยอดขายไม่สูงนัก แค่หลักร้อยบาทต่อวัน
กระทั่ง เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มเกิดกระแสบอกปากต่อปากช่วยให้ยอดขายดีขึ้นโดยลำดับ และเมื่อได้รับคัดเลือกเป็นโอทอปประจำจังหวัด มีโอกาสออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ช่วยเปิดตลาดสู่วงกว้าง ยอดขายจึงดีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ลาวัลย์ เผยว่า ขณะนี้พยายามให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานสินค้า เช่น จดเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว รวมถึง ขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างอาคารผลิตสินค้า จนผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างขอเครื่องหมายองค์การอาหารและยา (อย.) ต่อไป
ด้านปัญหาธุรกิจนั้น เธอชี้ไปที่กำลังการผลิต ขณะนี้มีพนักงาน 12 คน ยังไม่ทันต่อความต้องการของตลาดที่สูงเกินจะรองรับได้ 2-3 เท่าตัว นอกจากนั้น จากผลกระทบจากราคาวัตถุดิบหลักปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล และแป้ง ทำให้จำเป็นต้องปรับราคาขายขึ้น จากเดิมส่ง กล่องละ 25 บาทเป็น 35 บาทในปัจจุบัน
ลาวัลย์ ทิ้งท้ายว่า อนาคตอาจจำเป็นต้องนำเครื่องจักรมาใช้บ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระการผลิต เช่น ขั้นตอนการกวนส่วนผสม เป็นต้น อย่างไรเสีย จะไม่ยอมทิ้งจุดเด่นการอนุรักษ์สูตรและวิธีทำขนมอาลัวโบราณไป เพราะถือเป็นจุดขายที่ลูกค้าชื่นชอบ และจดจำได้อย่างดี
เปิดครัววิธีทำอาลัวโบราณ |
นำส่วนผสมระหว่างแป้งสาลี และน้ำตาลมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่น้ำกะทิลงไป เคี่ยวส่วนผสมบนเตาถ่านร้อนจัดประมาณ 1 ชั่วโมง จนส่วนผสมต่างๆ เข้ากันเป็นเนื้อเดียว พักไว้สักครู่ นำมาปั้นและหยอดด้วยมือ จากนั้นนำไปตากแดด ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ขนมเกิดสีเงาวาวสวยงามน่ากิน ขั้นตอนต่อไปนำไปเข้าเตาอบ 4-6 ชั่วโมง และสุดท้าย บรรจุกล่องพร้อมจำหน่าย |
***********
โทร.032-401-878 , 081-757-4311