สสว.ชี้ SMEs ต้องต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจอีกกว่า 2 ปี จากนั้น จะเกิดการเรียนรู้สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และปัญหาพลังงานจะมีแนวทางแก้ไขชัดเจน แนะระยะยาว ควรปรับตัวรองรับพลังงานไฮบริด ทางเลือกที่ทั่วโลกยอมรับ
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 2,000 ราย พบว่า SMEs ส่วนใหญ่ปรับตัวรับสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว ทว่า การปรับตัวดังกล่าวยังไม่ทันต่อสภาพเศรษฐกิจจริงในปัจจุบัน เช่น เมื่อปลายปีที่แล้ว (2550) ประเมินกันว่า เงินเฟ้อปีนี้ (2551) จะอยู่ระดับ 5-6% แต่ปัจจุบันสูงถึง 8% และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 9% ทำให้เป้าที่ SMEs วางไว้ เพื่อรองรับเงินเฟ้อ 5-6% ไม่เพียงพอจะรับสถานการณ์จริงเสียแล้ว
ทั้งนี้ คาดว่า SMEs จะต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอด อีกประมาณ 2 ปี ท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่าพลังงานแพง เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ทว่า หากประคองตัวผ่านช่วงนี้ไปได้แล้ว เชื่อว่า SMEs จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ปรับตัวรับสถานการณ์ได้ รวมถึง วิกฤตพลังงานโลกจะมีทิศทางแก้ไขชัดเจนขึ้น
ดร.ณัฐพล เผยต่อว่า สำหรับการปรับตัวด้านพลังงานของ SMEs ควรพิจารณาเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นควรวิเคราะห์ตัวเองว่า มีความจำเป็น และคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าจะลงทุนด้านพลังงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งแต่ละรายจะต่างกันไป ส่วนระยะยาว SMEs ควรเตรียมตัวรองรับพลังงานไฮบริด(Hybrid) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และยั่งยืน มีมาตรฐานสากลทั่วโลกยอมรับ และเชื่อว่า จะเป็นเทคโนโลยีที่มาทดแทนพลังงานอื่นๆทั้งหมด โดยจะมาถึงตัว SMEs เร็วกว่าที่คาด ภายในไม่เกิน5 ปีข้างหน้า โดยพัฒนาจากรถยนต์ สู่เครื่องจักรอุตสาหกรรม
สำหรับการสำรวจของ SAW ได้วิเคราะห์การดำเนินงานของ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมวิศวการ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม ใน 8 สาขาได้แก่ เหล็กโลหะ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือเฉพาะทาง ยานยนต์และชิ้นส่วน การต่อเรือและซ่อมเรือ และการบิน พบว่า สถานการณ์โดยรวมยังอยู่ในระดับดี การส่งออกโตประมาณ 10% เนื่องจาก SMEs กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นระดับเข้มแข็ง และมีบริษัทยักษ์ใหญ่หรือกลุ่มทุนต่างชาติหนุนหลัง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลตอบแทนจากการดำเนินงานของ SMEs มีอัตราต่ำลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น SMEs ประมาณ 10-20% จากการสำรวจ มีแนวคิดจะลดต้นทุนด้วยการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย ฉะนั้น แนวทางที่ถูกต้อง SMEs ต้องพยายามลดต้นทุนด้วยหลายวิธีประกอบกัน อย่ามองแค่ลดจ้างงาน เช่น ตรวจสอบกระบวนการผลิตของตัวเองเพื่อลดความสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ จัดการบริหารใหม่ในองค์กร สร้างแบรนด์โดยไม่ใช้ต้นทุนสูง หาตลาดใหม่ และสร้างมาตรฐานหวังผลระยะยาว เป็นต้น