ก.อุตฯ หารือ ก.คลัง สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจ เอสเอ็มอี วงเงิน 40,000 ลบ. คาดถึงมือเอสเอ็มอี ภายในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมเสนอเพิ่มทุนให้เอสเอ็มอีแบงก์ 20,000 ลบ. เพื่อให้เป็นอีกแหล่งเงินทุน ช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอี วอนสถาบันการเงินเอกชนต่างๆ ผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ หวั่นวิกฤตลามเหมือนปี 40
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Industrial Forum ครั้งที่ 3 และ Industrial Mart ครั้งที่ 1 ว่า จากเดิมที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ ธปท.ไม่สามารถให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงิน 40,000 ล้านบาทได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีปัจจัยลบหลายประการ โดยเฉพาะราคาน้ำมันแพง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหนัก โดยเฉพาระดับเอสเอ็มอี ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีแนวโน้มว่า ต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก และอาจร้ายแรงถึงขั้นวิกฤตปี 40
ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้เข้ามารับหน้าที่ให้การช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีแทน ธปท. เบื้องต้นคาดว่า ภายในเดือน สิงหาคมนี้ จะมีเงินบางส่วนเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งอาจจะไม่เต็มจำนวนวงเงิน 40,000 ล้านบาท แต่ก็ขอให้มีเงินทุนเข้ามาในระบบก่อนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีประคองตัวอยู่ได้ หากไม่เพียงพอก็จะมีการขอเพิ่มเติมภายหลัง
“อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะให้ควรจะอยู่ในระดับที่เอสเอ็มอีสามารถรับได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนเข้ามาประคองธุรกิจในช่วงนี้ ซึ่งจะมากหรือน้อย ก็คิดว่าจะน่ามีประโยชน์ ขอให้มีมาช่วยต่อลมหายใจก่อน” นายสุวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ จะเสนอเพิ่มทุนแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอีด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากทุนแล้ว ยังต้องให้วิชาการควบคู่ไปด้วย ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ ต้องทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะการให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาในระยะยาว ดังนั้น การให้สินเชื่อต้องควบคู่กับการพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีความสามารถในการปรับตัว และเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมจะให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีแบงก์ในการทำหน้าที่ดังกล่าว
นายสุวิทย์ เผยอีกว่า อยากให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี เพราะหากเข้มงวดเกินไป หรือหยุดการให้สินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยอยากธนาคารพาณิชย์ พิจารณาว่า หากรายใดยังเดินหน้าธุรกิจได้ไม่ควรตัดความช่วยเหลือ และควรเพิ่มวงเงินให้ธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานดี เพื่อนำไปขยายกิจการต่อไป