การได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมนอกจากจะพบความสงบในจิตใจแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญญาเป็นที่มาของผลงาน “บัวนิมิต” ดอกบัวประดิษฐ์ที่มากไปด้วยความวิจิตรบรรจง นอกจากจะใช้ประโยชน์เป็นดอกบัวถวายพระแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยคติธรรมเตือนใจด้วย
ปุณยวีร์ ปุณอักษรสกุล ผู้สร้างสรรค์ดอกบัวประดิษฐ์ในชื่อ “บัวนิมิต” เล่าว่า เมื่อปี 2538 มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี ซึ่งนอกจากได้ความสงบทางใจแล้ว ยังทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นำเสนอ “บัวนิมิต” หรือดอกบัวประดิษฐ์ ซึ่งแรงบันดาลใจเกิดขึ้นระหว่างการนั่งปฏิบัติธรรม อยากประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนส่งเสริมพระพุทธศาสนา พร้อมแฝงคติธรรมลงไปได้ เพื่อเตือนใจแก่ผู้พบเห็น
ในเวลานั้น ประมาณปี 2545 ปุณยวีร์มีอาชีพหลักทำธุรกิจร้านซักแห้ง และใช้เวลาว่างมาสร้างสรรค์ดอกบัวประดิษฐ์ โดยนำความรู้ด้านงานถักโครเชต์ที่มีติดตัวมานานแล้ว รวมเข้ากับแรงบันดาลใจที่ได้จากการปฏิบัติธรรม แรกเริ่มทำเป็นอาชีพเสริม วางขายในร้านซักแห้งของตัวเอง ต่อมามีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงพัฒนาทำเป็นอาชีพหลัก เมื่อปี 2547 โดยใช้ลงทุน ประมาณ 100,000 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์)
“บัวที่ผลิต มีหลายแบบ แต่ที่ได้รับความสนใจจะเป็นบัวที่แฝงคติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ บัวแบบบัวสี่เหล่า แบบบัวบาน และแบบตรีภพ ซึ่งเป็นบัวประดิษฐ์ที่นิยมถวายพระพุทธรูปในพระอุโบสถ และพระพุทธรูปในบ้าน”
ปุณยวีร์ เล่าความหมายของบัวทั้ง 3 แบบว่า บัวสี่เหล่า ประกอบด้วย บัวบานอยู่บนสุด หมายถึงมนุษย์ที่รู้แจ้งเห็นจริงในหลักธรรม หรือผู้ที่บรรลุธรรม ต่ำลงมาเป็นบัวแย้ม หมายถึง มีความรู้ในธรรมแต่ยังไม่บรรลุเหมือนบัวบาน ลงมาอีกชั้นคือบัวตูม หมายถึง ยังมีความรู้ธรรมน้อย แต่ยังมีโอกาสปฏิบัติไปสู่บัวแย้มและบัวบาน บัวสุดท้ายคือ บัวตูมติดโคนตม หมายถึง บัวชั้นล่างสุด เป็นบัวที่แทบไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นไปได้ สุดท้ายกลายเป็นอาหารเต่าอาหารปลา
บัวแบบที่ 2 ได้แก่ บัวบาน ซึ่งจะประดิษฐ์เป็นดอกบัวบานทั้งหมด สื่อถึงมนุษย์ผู้บรรลุและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว และบัวแบบที่ 3 คือ ตรีภพ หรือ 3 โลก จะจัดวาง 3 ระดับสายตา ชั้นบนหมายถึงสวรรค์ ชั้นที่สองหมายถึง มนุษย์ และชั้นที่สาม หมายถึง บาดาล ตามคติธรรมชาวพุทธ นอกจากบัวแฝงคติธรรม ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีบัวที่ประดิษฐ์เลียนแบบธรรมชาติ เช่น กอบัวหลวง เป็นต้น
สำหรับวัสดุจะใช้ คือ “ดิ้น” ซึ่งเป็นโลหะรีดบางตัดเป็นเส้นคล้ายลวดขนาดเล็ก ชุบด้วยสีเงิน และสีทอง โดยดิ้นที่เลือกใช้ คือ “ดิ้นเบอร์ 900” นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มีคุณสมบัติเด่นถักขึ้นรูปได้ดี อีกทั้ง ไม่หมองคล้ำ อายุใช้งานคงทนมากกว่า 30 ปี ซึ่งดิ้นชนิดนี้ราคาค่อนข้างสูง หนึ่งม้วน น้ำหนัก 100 กรัม ราคาประมาณ 500 บาท
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำดิ้นพันด้วยเส้นไหม ทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะดิ้นมีความคม หลังจากนั้นนำมาถักโครเชต์ขึ้นรูปโดยไม่มีแบบตายตัว ส่วนใหญ่จะทำตามมโนภาพในใจ หลังจากนั้นจะวาดภาพในสมองว่าจะวางดอกตูมดอกบัวบานไว้ตรงไหน
หากพูดถึงคุณสมบัติพิเศษของบัวนิมิต คือ ความสวยงามที่คงทนใช้งานได้นาน โดยสีไม่หมองคล้ำ ยิ่งใส่ตู้กระจกอาจจะอยู่ได้ถึง 100 ปี ทำความสะอาดง่ายเพียงใช้น้ำสะอาดล้างฝุ่นออกเท่านั้น
ปุณยวีร์ เผยว่า บัวนิมิตมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ราคาแพงและทำยาก มีตั้งแต่ขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก รวมแล้ว 7 ขนาด โดยขนาดใหญ่สุดกว้าง 19 นิ้ว สูง 26 นิ้ว ราคาขายคู่ละประมาณ 3-5 หมื่นบาท ส่วนบัวเล็ก ขนาดกว้าง 5 นิ้ว สูง 10 นิ้ว ราคาอยู่ระดับหลักพันบาทขึ้นไป ต่อชิ้นใช้เวลาทำ 7-15 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่าย ทุกขั้นตอนล้วนเป็นงานทำมือ
สำหรับการผลิต ทำกันเองในครัวเรือน มีแรงงานแค่ 3 คน ต่อเดือนมียอดสั่งผลิตประมาณ 10-15 ชิ้น กลุ่มลูกค้าเกือบ 100% คือ พุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่วัยรุ่นถึงสูงอายุที่สั่งไปถวายวัด หรือใช้บูชาพระพุทธรูปประจำบ้าน มีช่องทางตลาด จะออกงานแสดงสินค้าที่เหมาะสม กับรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อโดยตรง
ด้วยต้นทุนวัสดุค่อนข้างสูง ประกอบกับช่องทางการตลาดจำกัด ยิ่งปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง เจ้าของธุรกิจ เผยว่า บางครั้งเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องของทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้เพิ่มเติมสินค้าบัวประดิษฐ์จากดินไทย ขายในราคาไม่สูง มีจุดเด่นสีสันสดใสมีชีวิตชีวา พร้อมแฝงคติธรรมเช่นเดียวกัน เน้นตอบสนองลูกค้ารายได้น้อย หรือต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในระดับหนึ่ง
นอกจากนั้น ยังสร้างสรรค์สินค้าอื่น ๆ เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าอีกหลายแบบ เช่น ผ้าทิพห่มพระพุทธ ใช้วัสดุจากดิ้นเช่นเดียวกับบัวนิมิต ขนาดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อเป็นหลัก อีกทั้ง เตรียมขยายตลาดส่งขายพุทธศาสนิกชนในต่างแดนด้วย
****************
โทร. 089-612-8167 และ 02-543-5574