คณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอี คลอดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ผ่านสถาบันการเงินอย่าง “เอสเอ็มอีแบงก์” และ “บสย.” มอบการบ้าน สสว. จัดลำดับความสำคัญในการส่งเสริมเป็นรายสาขา
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้นมากเป็นการเร่งด่วน
โดยจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ประมาณ 3% ระยะเวลากู้ 5 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอี สามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรทันสมัยและประหยัดพลังงาน โดยจะนำเงินจากกองทุนเครื่องจักร (Machine Fund) เข้ามาอุดหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติ ซึ่งเงินของกองทุนเครื่องจักรที่จะนำมาอุดหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนั้นมีเพียงพอแน่นอน
นอกจากนั้น จะเร่งผลักดันให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( เอสเอ็มอีแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินบางแห่ง เข้าไปสนับสนุนเงินกู้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
"ผมจะพยายามผลักดันให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะของภาครัฐเข้าไปสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้มีเงินทุนไปปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต" นายสุวิทย์ กล่าว
นอกจากนั้นยังได้มอบนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ไปปรับแผนปฏิบัติการระยะยาวในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะมีการจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมที่ภาครัฐจะเข้าไปส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิค
“เราต้องยอมรับว่าการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ผ่านมาทำแบบกระจัดกระจาย และเป้าหมายบางอย่างที่ตั้งไว้ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ จึงต้องหันกลับมาเน้นการส่งเสริมเอสเอ็มอีแบบเป็นรายกลุ่มหรือคลัสเตอร์ โดย สสว.จะต้องไปจัดลำดับความสำคัญมาว่า จะสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มใดก่อนและหลัง และจะสนับสนุนให้เอสเอ็มอีกลุ่มนั้นๆ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างไร โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้” นายสุวิทย์ ระบุ
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงการส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการจัดงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาไปถึงขั้นที่ว่าดำเนินการอย่างไร ที่จะให้เอสเอ็มอีสามารถจำหน่ายสินค้าได้ตลอดทั้งปี เช่น สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้สินค้าเอสเอ็มอี สามารถเข้าไปวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดได้ทั่วโลก