xs
xsm
sm
md
lg

“สาหร่ายมุกหยก” ไข่ปลาคาร์เวียร์มังสวิรัติ นวัตกรรมต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สาหร่ายมุกหยก” ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ คือ อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของชิ้นงานวิจัยที่วันนี้มีภาคเอกชน โดย “บริษัท สยามนอสตอค แอนด์ ไมโครแอลจี จำกัด” ได้นำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ชิ้นงานวิจัยดังกล่าวเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการคิดค้นของคนไทย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ต้องการพัฒนาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีชื่อสากลว่า สาหร่ายนอสตอค (Nostoc) ให้มีลักษณะรูปร่างกลม เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปต่อยอดการผลิตเชิงการค้า ซึ่งใช้ระยะเวลาในการวิจัยประมาณ 2 ปี

สาหร่ายนอสตอคนั้น เป็นสาหร่ายที่มีอยู่ในหลายประเทศ และนิยมบริโภคกันในหลายประเทศเช่นกัน อาทิ ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, มองโกเลีย, ไซบีเรีย, ฟิจิ, โบลิเวีย, เปรู, เอควาดอร์, เม็กซิโก เป็นต้น

ส่วนในประเทศไทย พบว่า มีการบริโภคสาหร่ายนอสตอคในหลายพื้นที่ โดยรู้จักกันในชื่อต่างๆ เช่น คนในภาคกลางและภาคอีสานเรียกว่า ไข่หิน, ดอกหิน หรือเห็ดลาบ ส่วนภาคเหนือรู้จักชื่อ เห็ดหิน และเห็ดยาควร ซึ่งสาหร่ายนอสตอคแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะการเจริญเติบโตในธรรมชาติที่แตกต่างกัน บางชนิดเป็นแผ่นวุ้น และบางชนิดเป็นก้อนวุ้น

แต่สาหร่ายนอสตอคที่ วว.พัฒนาขึ้นนั้น เป็นสาหร่ายสายพันธุ์นอสตอค คอมมูน (Nostoc Commune) มีลักษณะรูปร่างกลม เนื้อแน่น มีสีเขียวแกมน้ำเงิน มีประกายคล้ายไข่ปลาคาร์เวียร์ ซึ่งเหมาะสมต่อการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

จากรูปร่างที่มีลักษณะกลม พร้อมประกายเขียวแกมน้ำเงิน ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของสาหร่ายนอสตอคที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในธรรมชาติ บวกกับคุณสมบัติที่ไม่มีกลิ่นและรส จึงเหมาะกับการปรุงอาหารได้ทุกประเภท ทั้งอาหารคาว-หวาน ของขบเคี้ยว และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ประการสำคัญ คือ เป็นที่นิยมบริโภคในหลายประเทศ ฉะนั้นจึงมองว่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสทางการตลาดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ”

“บัณฑิต สายวิไล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามนอสตอค แอนด์ ไมโครแอลจี จำกัด เริ่มต้นเล่าถึงความน่าสนใจในการเข้าขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายนอสตอคมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อการค้า “สาหร่ายมุกหยก” พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า

“หลังจากที่บริษัท สยามนอสตอค ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายนอสตอคจากวว. เมื่อกลางปี 2550 บริษัทก็ใช้ระยะเวลาในการเตรียมสถานที่เพาะเลี้ยงอยู่ 3 เดือน ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท โดยจะมีกำลังการผลิตสาหร่ายได้เดือนละ 1,000 กิโลกรัม”

ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงสาหร่าย เริ่มจากการนำเชื้อพันธุ์ที่ได้จากวว. มาเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว ภายใต้สภาพการควบคุมตั้งแต่อาหาร, อากาศ, อุณหภูมิ และความสะอาด เพื่อให้ปราศจากสารปนเปื้อนต่างๆ และเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค โดยจะใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 45 – 60 วัน จึงจะได้สาหร่ายที่มีขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมจะนำไปรับประทาน

บัณฑิต บอกว่า บริษัทสามารถผลิตสาหร่ายมุกหยกออกวางจำหน่ายในตลาดได้ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สาหร่ายสดบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท มีอายุการเก็บในตู้เย็นหรือที่อุณหภูมิ 7 – 10 องศาเซลเซียส ได้ประมาณ 1 เดือน แต่หากเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิจะเก็บได้ประมาณ 2 เดือน

ปัจจุบันสินค้าจะมีวางจำหน่ายที่ร้านโดยเฉพาะ ใกล้โรงพยาบาลศิริราช, ศาลาสมุนไพร, ร้านกายและใจ, คลินิกบารมี และฟู้ดส์แลนด์ ราคากล่องละ 150 บาท น้ำหนักขนาด 200 กรัม

“ตลาดเป้าหมายจะเน้นเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มคนที่รักสุขภาพเป็นหลัก ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในระยะ 3 เดือนแรกของการทำตลาดด้วยการออกงานแสดงสินค้า 2 งาน คือ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ และงานนวัตกรรมแห่งชาติ ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดี

โดยตลาดในประเทศมียอดขายในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ประมาณ 700 กิโลกรัม หรือประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับการขายสินค้าใหม่ในตลาด เพราะยังอยู่ในช่วงการแนะนำสินค้าให้ผู้บริโภครู้จัก

ส่วนตลาดต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็ยังมองไปที่ตลาดเกาหลี สิงคโปร์ และอเมริกาด้วย โดยในปีนี้เตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เดือนละ 5,000 กิโลกรัม โดยจะขยายสถานที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายไปที่ย่านบางเขน เพื่อเตรียมรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

บัณฑิต ย้ำถึงโอกาสทางการตลาดของสาหร่ายมุกหยกว่า เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูง คือ ให้โปรตีนและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย มีวิตามิน เกลือแร่ คลอโรฟิลล์ และไฟโคไซยานิน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีคุณค่าสารอาหารมากกว่าผักบางชนิดเสียอีก

ที่สำคัญสามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งอาหารไทย, จีน, ฝรั่ง และญี่ปุ่น เช่น เป็นหน้าแซนด์วิชรสชาติต่างๆ, ใส่ในซุปต่างๆ, เป็นส่วนผสมในน้ำสลัด, เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มต่างๆ,ใช้แทนไข่กุ้ง ไข่ปลาคาร์เวียร์ เป็นหน้าซูซิ หรือใส่ในน้ำพริก เป็นต้น ทั้งยังเหมาะกับการเป็นอาหารมังสวิรัติอีกด้วย

ดังนั้นจาก 2 ปัจจัยข้างต้นนี้ มั่นใจว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์สาหร่ายมุกหยกได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ส่วนแผนต่อไปบริษัทเตรียมจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นอาหารแปรรูป เพื่อให้สะดวกต่อการรับประทานมากยิ่งขึ้น

“ตอนนี้อุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องของการผลิต เนื่องจากว่าตัวสาหร่ายไม่ใช่อุตสาหกรรมที่จะสามารถผลิตขึ้นมาได้เลย แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเพาะเลี้ยง จึงทำให้ปริมาณที่ออกสู่ตลาดในช่วงเริ่มต้นยังน้อย

ส่วนการรับรู้ในตลาด ก็ต้องอาศัยระยะเวลาด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ยังมองว่าการบริโภคสาหร่ายเป็นของกินเล่น หรือเป็นอาหารเสริมเท่านั้น ฉะนั้นหากเราสามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมของผู้บริโภคให้หันมารับประทานสาหร่ายเป็นเสมือนอาหารหลักทั่วๆ ไปได้ โดยชูจุดขายในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ ก็จะยิ่งช่วยขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นอีก”

วันนี้แม้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า “สาหร่ายมุกหยก” จะประสบความสำเร็จในแง่ของตลาดมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคเอกชนไทยหันมาหยิบเอาชิ้นงานวิจัยจากหิ้งไปต่อยอดสู่ห้างได้เป็นผลสำเร็จ

(ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551)
กำลังโหลดความคิดเห็น