นับแต่โบราณ “ไม้กฤษณา” ถือเป็นไม้มงคลตามความเชื่อทางศาสนา นอกจากนั้น ยังมีคุณสมบัติสามารถสกัดเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากประการ รวมถึงสามารถกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ทำหัวน้ำหอมคุณภาพสูง ซึ่งตลาดต่างประเทศ ทั้งตะวันออกกลางและยุโรปต้องการอย่างสูง ซื้อขายกันด้วยราคาแพง จนมีคำกล่าวว่า น้ำมันหอมระเหยจาก “ไม้กฤษณา”ราคาสูงที่สุดในโลก
จากความนิยมดังกล่าว ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้กฤษณาขึ้นเองตามธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงเกิดอาชีพตัดไม้กฤษณาส่งขายโรงสกัดน้ำมันหอมอย่างแพร่หลาย กระทบให้ต้นกฤษณาถูกโค่นล้มจำนวนมาก ที่สุดแล้วต้องมีการออกกฎหมายคุ้มครองให้กฤษณาเป็นไม้อนุรักษ์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อาชีพสกัดน้ำมันหอมไม้กฤษณาในประเทศไทยยังคงอยู่ โดยปรับตัวให้สอดคล้องเพื่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาชีพนี้ยังสร้างรายได้อย่างงามให้คนในวงการ เช่นรายของ “สมคิด เจริญคง” ผู้ประกอบการ จ.จันทบุรี
สมคิด เล่าว่า เดิมพ่อยึดอาชีพตัด “ไม้กฤษณาสับ” (ชิ้นไม้กฤษณาสีขาวเหลือง สับเป็นชิ้นๆ) ส่งขายโรงกลั่น ทำให้เขาคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาแต่เด็ก สามารถวิเคราะห์ได้ว่าไม้กฤษณาคุณภาพดีเป็นอย่างไร จนเมื่อเติบใหญ่ ได้เข้ามาทำงานเต็มตัว เห็นว่า ถ้าจะแค่ตัดไม้กฤษณาสับขายอย่างเดียว โอกาสสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำคงยาก จึงอยากมีโรงกลั่นของตัวเอง เลยตัดสินใจเข้าไปทำงานในโรงกลั่นน้ำมันหอมระเหย เพื่อเรียนรู้วิชา
“การกลั่นน้ำมันหอมจากไม้กฤษณา คนในวงการจะหวงวิชากันมาก แต่ละรายจะมีสูตรเฉพาะแตกต่างกันไป ซึ่งตัวผมเรียนรู้โดยอาศัยการสังเกตและจดจำอยู่กว่า 2 ปี ก่อนออกมาตั้งโรงกลั่นของตัวเอง” สมคิด เผยและเล่าต่อว่า
นับเป็นโชคดีของเขา และครอบครัวที่เวลานั้นขออนุญาตตั้งโรงกลั่น ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายจำกัดการตั้งโรงกลั่นน้ำมันหอม เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้กฤษณาในป่า ทำให้ถึงปัจจุบันนี้ ภายในจังหวัด ธุรกิจนี้แทบไม่มีคู่แข่ง โดยเขาเป็นผู้ผลิตที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพียง 1 ใน 3 รายของ จ.จันทบุรีเท่านั้น
สมคิด เล่าต่อว่า ปัจจุบันต้นกฤษณามีการปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ไม่ต้องแอบเข้าไปลักลอบตัดในป่าเหมือนอดีต โดยปลูกมากในแถบจ.ตราด และจันทบุรี เนื่องจากมีสภาพดินอุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศเหมาะสม
ส่วนที่จะนำมาสกัด คือ บริเวณเกิดรอยแผล ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างสารกฤษณาขึ้นมา มีสีดำสนิทในเนื้อไม้ ยิ่งเป็นต้นอายุมาก ราคาจะยิ่งสูง เดิมรอยแผลจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น รอยนกเจาะ แต่ปัจจุบันจะจงใจให้เกิดโดยใช้วิธีเจาะรู
สำหรับรูปแบบธุรกิจนั้น สมคิด อธิบายว่า จะรับซื้อไม้กฤษณาสับจากชาวบ้าน ในราคา 70-200 บาทต่อกิโลกรัม (แล้วแต่คุณภาพไม้) ขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์คัดเลือกไม้คุณภาพดี หลังจากนั้น นำไปตากแดด 3 วันจนเนื้อไม้แห้ง ซึ่งน้ำหนักไม้จะลดเหลือแค่ 1 ใน 3 จากตอนรับซื้อ
จากนั้น บดเป็นผง นำไปหมักกับน้ำเปล่าในโอ่งนาน 7 วัน แล้วนำไปต้มในหม้อ 6 วัน จนเกิดไอระเหย กลั่นตัวเป็นน้ำมันหอม ซึ่งโอ่ง 1 ใบ จะจุผงไม้กฤษณาแห้งได้ประมาณ 10 กิโลกรัม สามารถกลั่นออกมาเป็นน้ำมันหอม ประมาณ 18 กรัม
น้ำมันหอมซื้อขายกันเป็น “โตร่า” 1 โตร่า ปริมาตร 12.5 CC หรือหนักประมาณ 12 กรัม ราคาถึง 4,500 – 6,000 บาท หักต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานแล้ว 1 โอ่งจะมีกำไรประมาณ 1,000 บาท ด้านช่องทางจำหน่าย จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงบ้าน แล้วนำไปขายต่อให้บริษัทจากแถบตะวันออกกลาง เพื่อใช้ทำหัวน้ำหอม นอกจากนั้น ส่วนผงไม้กฤษณาที่ผ่านการกลั่นแล้ว ยังนำไปใช้ทำผงธูปได้อีกด้วย
สมคิด ระบุว่า ธุรกิจนี้ ตลาดมีรองรับไม่จำกัด กลั่นได้มากเท่าใด ลูกค้าพร้อมจะเหมาซื้อทั้งหมด โดยปัจจุบัน ธุรกิจของเขา มีหม้อต้มทั้งหมด 4 ใบ ทั้งที่ได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดให้ผลิตได้ถึง 7 หม้อ แต่เวลานี้ ยังไม่พร้อมจะลงทุนสร้างหม้อเพิ่ม เพราะต้องใช้ทุนสูงมาก นอกจากนั้น จำเป็นต้องแบ่งทุนอีกส่วนไว้ซื้อวัตถุดิบด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยมาเป็นทุนหมุนเวียน
เขา เผยด้วยว่า น้ำมันหอมไม้กฤษณาแต่ละแห่งจะมีกลิ่น และคุณสมบัติเฉพาะตัว มีผลมาจากทั้งสายพันธุ์ของไม้กฤษณาแต่ละต้น สภาพดิน น้ำ และอากาศที่ปลูก ตลอดจนกรรมวิธีการหมัก ซึ่งเป็นเคล็ดลับแตกต่างกันไป ทั้งนี้ น้ำมันหอมจากแถบ จ.จันทบุรี และตราด ถือว่าราคาสูงที่สุดในประเทศไทย เพราะมีจุดเด่นกลิ่นถูกใจชาวต่างชาติ และกลิ่นติดทนนาน
***********************
โทร.081-000-7443
***********************
ขั้นตอนการกลั่นน้ำมันหอมไม้กฤษณา |
1 – นำไม้กฤษณาสับตากแดด 3 วัน จนเนื้อไม้แห้งสนิท 2 – บดเป็นผงละเอียด 3 – หมักกับน้ำเปล่าในโอ่ง นาน 7 วัน 4 – ระหว่างการหมักหมั่นคนสม่ำเสมอ 5 – ต้มในหม้อ 6 วัน ด้วยอุณหภูมิร้อนสม่ำเสมอ 6 - รอจนไอระเหยกลั่นตัวเป็นน้ำมันหอม |