xs
xsm
sm
md
lg

"หมอนขิดศรีฐาน"พลิกตำนานส่งออกภูมิปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอนขิดของใช้ที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันชุมชนหมู่บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ยังคงที่รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมในการสืบทอดการทำหมอนขิดให้ยังคงอยู่คู่กับชุมชน และสร้างอาชีพให้กับชุมชนศรีฐานกว่า 1,000 ครัวเรือนให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี

นางสาวศุวภัทร จันทร์เหลือง ประธานกลุ่มสตรีพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าขิด หมู่ที่ 8 ตำบลศรีฐาน คนรุ่นใหม่ที่มารับหน้าที่ในการดูแลกลุ่มสตรีพัฒนาต่อจากผู้เป็นมารดา เล่าว่า ที่มาของหมอนขิดมาจากผ้าที่นำมาใช้ที่เรียกว่า ผ้าขิด เป็นผ้าที่มีความผูกพันและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวศรีฐานมาแต่โบราณ โดยมีการนำผ้าขิดมาใช้งานหลายรูปแบบ ทั้งที่ใช้เองในชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องนุ่งห่ม ของฝาก สิ่งของประดับ จนผ้าขิดกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบ้านศรีฐานที่ทุกคนให้การยอมรับและภาคภูมิใจ และผ้าขิดเป็นต้นกำเนิดของหมอนสามเหลี่ยม หรือ หมอนขิด เพราะเป็๋นหมอนที่ทำมาจากผ้าขิด

สำหรับหมอนขิดได้อยู่คู่กับชุมชนชาวศรีฐานมาตลอด โดยชาวบ้านกว่า 98%หรือประมาณ 1,000 ครัวเรือนมีการทำหมอนขิดเพื่อจำหน่าย เรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านหมอนขิดก็ว่าได้ โดยสินค้าเกือบทั้งหมดจะถูกส่งมาจำหน่ายรวมกันที่บ้านประธานกลุ่ม และประธานกลุ่มจะมีหน้าที่จัดจำหน่ายหรือเป็นฝ่ายการตลาดให้ โดยชาวบ้านจะรับหน้าที่ในการผลิตตามแบบเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตจะถูกแบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัดของแต่ละคน เช่น แผนกเย็บ แผนกยัดนุ่น โดยในส่วนของการยัดนุ่นมีการพัฒนาเครื่องจักรเข้ามาช่วยเพื่อป้องกันปัญหาโรคภูมิแพ้ที่จะเกิดกับชาวบ้าน ส่วนการออกแบบจะดูความต้องการของลูกค้าส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งลูกค้าเลือกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการออกแบบลวดลายขึ้นมาใหม่โดยสมาชิกภายในกลุ่มจะช่วยกันคิด

ในส่วนของผ้าที่นำมาทำหมอนขิด ในอดีตจะใช้ผ้าฝ้ายที่ชาวบ้านทอขึ้นมาเอง แต่ปัจจุบันมีออร์เดอร์เข้ามามาก ชาวบ้านไม่สามารถทอผ้าได้ทันกับออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามาจำเป็นจะต้องใช้ผ้าฝ้ายที่ทอจากโรงงาน ในส่วนของการทำลายจะมี 2 ส่วน ส่วนที่ชาวบ้านทอลายขึ้นมา และอีกส่วนเป็นผ้าที่ทอลายมาจากโรงงาน ลายทอมือจะมีความละเอียดและประณีตกว่า แต่ราคาจะสูงกว่า ซึ่งมีการใช้ทั้งสองส่วนใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีการนำผ้าไหมเข้ามาทำงานหมอนขิดด้วย โดยเลือกใช้ไหมที่เรียกว่า ไหมญี่ปุ่น จากโรงงานเพราะมีความมันวาวลูกค้าชื่นชอบมากกว่าไหมทั่วไป

“หมอนขิดของชาวศรีฐานเดิม เป็นหมอนหนุนและหมอนสามเหลี่ยมธรรมดา ได้มีการพัฒนาให้มีความหลาหลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงประโยชน์ใช้สอย และสีสันลวดลาย ปัจจุบันกลุ่มสตรีพัฒนาหมู่ 8 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าชิดให้กลายเป็นเบาะรองนั่ง หมอนสามเหลี่ยมที่นั่ง 1-3 พับ หมอนกระดูก ที่นอนระนาด ที่นอนพับ ปลอกหมอน ปลอกเบาะที่นั่ง ฯลฯ เพื่อตอบสนองแนวคิดด้านที่นอนสุขภาพ จนเป็นที่นิยมในสถานที่ท่องเที่ยวทั้งโรงแรม รีสอร์ท และสปา”

นอกจากการจำหน่ายในประเทศ แล้ว หมอนขิดยังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยได้มีการออกแบบสีสันลวดลายของผ้าขิดเพื่อตอบสนองรสนิยมผู้บริโภคในต่างประเทศที่มักนิยมสีเอิร์ทโทน ลวดลายที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ การประยุกต์ใช้สัญลักษณ์ของชาวยโสธรมาเป็นลวดลายลูกหวายและลายลูกสน เป็นต้น ประเทศที่มีการส่งออกไปจำหน่าย เป็นประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย สัดส่วนการส่งออกที่ผ่านมาอยู่ที 40-50% โดยช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ โดยการร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก ไปออกบูทในงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งขายต่างประเทศจะใช้การขายผ่านเทรดเดอร์ โดยยอดส่งออกปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2,000,000 บาท

ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 30 คน โดยสมาชิกมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท ซึ่งในส่วนรายได้ของกลุ่มอยู่ที่ประมาณเดือนละ 150,000 บาท ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 300,000 บาท ในปี 2550 ที่ผ่านมารายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออก สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และคนไทยใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น อะไรที่เป็นของฟุ่มเฟือยก็จะไม่ซื้อใช้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากการออกงานแสดงสินค้าครั้งล่าสุด ยอดขายหายไปครึ่งหนึ่ง จาก รายได้ในการจำหน่าย 6-7 วันขายได้ 1,200,000 บาท เหลือ แค่ 600,000 บาท

สนใจโทร. 08-6875-6618
กำลังโหลดความคิดเห็น