ขึ้นชื่อว่าข้าวหอมมะลิไทย ถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพจากทั่วโลก จนมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีภูมิประเทศเหมาะสมกับการปลูกข้าว ก็ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้ใกล้เคียงของข้าวหอมมะลิไทย และได้ทำการส่งออก หวังช่วงชิงตลาด
อย่างไรก็ดี ด้วยความไม่หยุดนิ่งของศูนย์วิจัยข้าวไทย จ.แพร่ ได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิขึ้นใหม่ บนความท้าทาย และกล้าเปลี่ยนรสชาติหอมมะลิของไทยแบบเดิมที่คุ้นเคย
ศริฎา กัลป์ยาณชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท แมทซ์ แม๊กซ์ จำกัด ผู้ดูแลด้านการตลาดและงานด้านการโฆษณา ของผลิตภัณฑ์ข้าวคำหอม กล่าวว่า ตนเองได้เล็งเห็นศักยภาพของข้าวไทย ที่ทางศูนย์วิจัยข้าว จ.แพร่ ได้ ร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย ให้มีความพิเศษ และรสชาติดีขึ้น สุดท้ายจึงออกมาเป็นข้าวอโรมา สวีท ไรซ์ (Aroma Sweet Rice) ที่มีความหอม หวาน มัน นุ่น เนียน และเหนียว ในครั้งแรกที่ได้ลิ้มลอง แต่เมื่อได้ทำการตรวจดีเอ็นเอ และทดลองปลูกข้าวพันธุ์นี้ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ก็ค้นพบว่ามีพื้นเดียวที่ปลูกได้คือ จ.แพร่ ที่มีความเหมาะสมทั้งสภาพดิน และภูมิอากาศ พร้อมตั้งชื่อแบรนด์ว่า “ข้าวคำหอม”
เมื่อข้าวคำหอมกลายเป็นข้าวที่ปลูกยาก และปลูกได้เพียงช่วงเดียวของปีเท่านั้น คือ จะลงมือปลูกวันแม่ (ประมาณวันที่ 12 สิงหาคม) และเก็บเกี่ยววันพ่อ (ประมาณวันที่ 5 ธันวาคม) ส่งผลให้จำนวนข้าวที่ได้ยังมีจำนวนน้อย บางครั้งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ขณะนี้ทางจังหวัดแพร่ได้รณรงค์ให้ชาวบ้านที่มีทำเลเหมาะสม หันมาปลูกข้าวคำหอมกันมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะปลูกแต่ข้าวเหนียวหรือข้าวหอมมะลิแบบเดิมๆ รวมถึงจูงใจชาวบ้านด้วยการประกันราคาข้าวในราคา 8,000-9,000 บาท/ตัน
“หน้าที่ผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐาน เป็นหน้าที่ของชาวบ้านในจังหวัดแพร่ แต่เมื่อผลผลิตมีมากขึ้น เรื่องการตลาดจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเปิดช่องทางกระจายสินค้า ทำให้บริษัท ออน แอนด์ ออน จำกัด เกิดขึ้น เพื่อดูแลด้านการตลาดให้กับข้าวคำหอมโดยเฉพาะ รวมถึงขั้นตอนบรรจุ ในบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเอง และส่งจำหน่ายที่ ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต, สหฟาร์ม, เอ็มโพรเลียม และเดอะมอลล์ ทุกสาขา โดยบรรจุลงในถุงซิบล็อค ขนาด 4.5 กิโลกรัม ราคา 160 บาท (ข้าวขาว) และถุงขนาด 2 กิโลกรัม ราคา 80 บาท (ข้าวกล้อง) และมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายแบบขายตรงให้กับผู้สนใจจำหน่ายข้าวคำหอมด้วย”
ข้าวคำหอม ถือเป็นข้าวระดับพรีเมียม ที่มีราคาค่อนข้างสูงหากเทียบกับข้าวแบรนด์ดังทั่วไป ทำให้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ B+ ขึ้นไป และเป็นกลุ่มคนที่รับประทานข้าวหอมมะลิเดิม ส่วนกำลังการผลิตในขณะนี้อยู่ที่ 2,000 ตัน/ปี
“เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกของเรา ที่จับลูกค้าระดับบน ซึ่งบางคนเรียกข้าวคำหอมว่า ‘ข้าวไฮโซ’ จากราคาที่ค่อนข้างสูง แต่หากคำนึงถึงคุณภาพที่ผู้บริโภคจะได้รับแล้ว ถือว่าคุ้มค่าเพราะจะได้รับประทานข้าวที่มีคุณภาพดี ไม่มีเม็ดหัก และหากเปรียบเทียบราคาการรับประทานข้าวคำหอมในแต่ละมื้อ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการทานข้าวหอมมะลิธรรมดาเพียง 0.50 บาท/มื้อ เท่านั้น แถมยังได้ทำบุญ เพราะรายได้จากการจำหน่ายข้าวคำหอมทุกถุงจะมอบเงิน 2 บาท เพื่อถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย”
ทั้งนี้การบริโภคข้าวคำหอม ไม่เพียงแต่จะได้ทานข้าวที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และชาวบ้านที่ปลูกข้าวคำหอมในจังหวัดแพร่ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวคำหอมให้มากขึ้น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวจังหวัดแพร่ ที่มีข้าวคำหอมเป็นสินค้าโอทอป ที่ขึ้นชื่อ รวมถึงยังเป็นจังหวัดต้นแบบบูรณาการครบวงจรของสินค้าโอทอปอีกด้วย ซึ่งคาดว่าหากทางภาครัฐฯ สนับสนุนให้ปลูกข้าวคำหอมกันทั้งจังหวัดแพร่ จะทำให้ข้าวคำหอมสามารถส่งได้ภายในปี 2551 ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าจากหลายประเทศที่สนใจนำข้าวคำหอมไปจำหน่าย เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐฯ และประเทศในแถบตะวันออกกลาง
***สนใจติดต่อ 0-2736-7580-1***