มีหลายคนถามว่า ทำไมร้านแฟรนไชส์ในบ้านเราดูเหมือนจะไม่ยั่งยืนเลย หลายรายได้หายไปจากสารบบแล้ว บางร้ายแค่เริ่มต้นประกาศตัวก็ดับวูบ แล้วจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานหรือไม่
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตอบได้ โดยเฉพาะต้องตอบให้เสียงดังพอให้ได้ยินกันหลายๆ คน เพื่อสร้างความเข้าใจในวงการนี้ไปด้วย
เรื่องแรก ต้องบอกว่า อย่าคาดหวังมากเกินไปกับระบบแฟรนไชส์เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ ก็มีโอกาสล้มเหลวได้เหมือนกับธุรกิจทั่วไป ดังนั้น การเป็นแฟรนไชส์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ต่อมา คือ การให้โอกาสการเกิดและเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น สุดท้าย ก็คือ ควรเปรียบเทียบการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ประเทศอื่นๆ ไปด้วย
จากการย้อนไปดูธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศต่างๆ เช่น ในสหรัฐเอมริกา ที่ระบบแฟรนไชส์เฟื่องฟู เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1995 ถึง 1999 เอกสารที่มีการรวบรวมธุรกิจแฟรนไชส์ในแต่ละปี พบว่า มีรายใดได้รับความนิยมติดอันดับ หลายข้อมูลพบว่า เมื่อระยะเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งแล้ว ธุรกิจที่เคยติดอันดับเหล่านั้นก็ใช่ว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเหมือนเก่า มีน้อยกว่า 30% ด้วยซ้ำ ที่ปัจจุบันยังมีร้านค้าเติบโตได้อย่างดี ขณะที่อีก 30% ยังประคองตัวไม่ไปไหน แต่ก็ยังไม่ตาย แต่ส่วนที่เหลือมากกว่า 40% ในวันนี้ แทบจะไม่ได้เห็นร้านอีก
ความคิดในการทำธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อม โดยเฉพาะที่เป็นร้านค้าขนาดเล็กเหล่านี้ การเกิดขึ้นและการสร้างธุรกิจเติบโตต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ร้านค้าต่างๆ มีการเปิดปิดตัวอยู่ให้เห็นเป็นปกติ ความเสี่ยงในการประกอบการนั้น มีสูงมาก
ระบบแฟรนไชส์เป็นกระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยงได้จริง แต่ไม่ใช่ความเสี่ยงทั้งหมด สิ่งสำคัญที่จะลดข้อผิดพลาดได้มาก คือ กระบวนการเลือก ทั้งในกรณีแฟรนไชส์ซอร์เลือกแฟรนไชส์ซี นักลงทุนที่ดี ได้ทำเลที่ดี และมีทีมงานที่ตั้งใจ ก็จะช่วยให้ระบบเติบโตได้
ตัวแฟรนไชส์ซีเองก็ต้องเลือกธุรกิจที่ถูกต้อง ไม่ใช่เน้นการขยายสาขาอย่างเดียวจนขาดคุณภาพ หรือเป็นธุรกิจที่เป็นไปไม่ได้ในทางตลาดเลย อย่างนี้ก็ถือว่าเลือกผิด
การคัดเลือกอย่างมีความรู้ทั้ง 2 ด้าน จึงจะช่วยให้ระบบธุรกิจนั้นยั่งยืน ธุรกิจแฟรนไชส์มีความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าหากเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ใช้วิธีการเริ่มต้นธุรกิจของตนไปพร้อมๆ กับการขายลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ เรียกได้ว่า เกือบจะในทันที ทำให้ไม่มีโอกาสรอดูผลประกอบการที่ยืนยันความสำเร็จของธุรกิจเสียก่อน สาเหตุนี้แหละที่ทำให้ความเสี่ยงของนักลงทุนที่ซื้อสิทธิ์มาทำธุรกิจจึงมีสูง เพราะแฟรนไชส์ซอร์เหล่านั้น ขยายธุรกิจทั้งๆ ที่ยังไม่มีบทพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจอย่างแท้จริง
สำหรับความคิดส่วนตัวธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นแล้วมีหายหน้าหายตาจากไป เพราะระบบแฟรนไชส์ไม่ใช่สิ่งที่บอกได้ว่า ธุรกิจเหล่านั้นจะต้องเติบโตเสมอไป ต้องอย่าไปตั้งความหวังมากเกินไปกับ ระบบแฟรนไชส์ แต่น่าจะดูโอกาสที่สร้างให้เกิดรูปแบบการค้าที่เมื่อใครสามารถสร้างได้ดีก็จะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและส่วนที่เหลือในธุรกิจได้ นั้นแหละเป็นการสร้างประโยชน์ทดแทนส่นที่เสียหายได้ในระดับพอคุ้ม ระบบแฟรนไชส์จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและร้านค้าเล็กๆ ให้มีความเป็นระบบ
อันที่จริงระบบแฟรนไชส์เป็นกระบวนการของความคิดที่เฉียบคม เป็นแง่มุมของธุรกิจที่ทรงพลังและมั่นคงอย่างมากในด้านที่เป็นกลยุทธ์การสร้างช่องทางจัดจำหน่าย ที่เป็นระบบให้คุณค่าในเชิงการพัฒนาธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจที่พลอยได้อานิสงส์ไปด้วย เรื่องที่เป็นเรื่องดีล้วนแต่ต้องอดทน เพราะว่าความดีที่แท้จริงเท่านั้น จึงมีเรื่องอดทน ไม่มีดีที่ไหนจะไม่มีอด ไม่มีทน เมื่อนั้นแล้วความยั่งยืน ความดีของธุรกิจจึงจะเกิดตามมา จน
จากหนังสือ รู้เท่ารู้ทัน แฟรนไชส์ โดย พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ สำนักพิมพ์ BrandAge books