xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องผู้ประกอบการอาหารเจ จับทางผู้บริโภคอินเทรนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเพณี "ถือศีลกินเจ" หรืออาจเรียกว่า "ถือศีลกินผัก" เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานับร้อยปีของชาวจีน ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลประจำปีระหว่างวันที่ 1-9 ของเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในแต่ละพื้นที่อาจเริ่มกินเจไม่ตรงกัน

ส่วนแหล่งขายอาหารเจที่ขึ้นชื่อที่สุดในกรุงเทพฯ ก็ต้องเป็นที่ "เยาวราช" และนอกจากนั้น ร้านอาหารทั่วๆ ไป รวมทั้งโรงแรมชั้นนำต่างๆ ก็สรรหาเมนูอาหารเจเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างหลากหลาย

สำหรับปีนี้ มีข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจควรรับทราบไว้ เพื่อเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอาหารเจ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคชาวกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับ “ความคิดเห็นและพฤติกรรมการรับประทานอาหารเจของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร” พบข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

๐ จะกินหรือไม่ เพราะอะไร?

สำหรับคำถามที่ว่า "ปีนี้ท่านจะรับประทานอาหารเจหรือไม่?" ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่าจะรับประทานแน่ๆ 66% และผู้ที่ตอบว่าไม่รับประทานมีจำนวน 34 %

ผู้ที่รับประทาน ให้เหตุผล 2 เรื่องที่มีเปอร์เซ็นใกล้เคียงกันว่า รับประทานเพราะ "ได้บุญ" (36%) คือไม่มีเนื้อสัตว์ ซึ่งหลายรายได้ถือศีลในเทศกาลนี้ด้วย (ถือศีลกินเจ) ซึ่งแสดงว่าผู้บริโภคสมัยนี้ยังให้ความสำคัญกับการทำบุญอยู่มาก

รองลงมาคือตอบว่ารับประทานอาหารเจเพราะ "มีประโยชน์ต่อร่างกาย" (35%) จะเห็นได้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของตนเองมากขึ้น และทราบว่าอาหารเจมีประโยชน์ เนื่องจากปรุงมาจากพืชผัก ไม่มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลยและยังมีใยอาหารสูงสามารถช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลได้

อันดับสาม ตอบว่ารับประทานอาหารเจเพราะ "อร่อย" (12%) และในทุกๆ ปี จะรอให้ถึงเทศกาลกินเจเร็วๆ เพราะอยากรับประทานอาหารเจ ส่วนผู้ที่ตอบว่าไม่รับประทาน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า "ไม่ชอบ" (50%) รองลงมาคือ "หารับประทานยาก" (28%) และบางคนก็ "กลัวอ้วน" (3%)

๐ คนกินเจชอบกินอะไร ?

ประเภทและเมนูอาหารเจที่คนชอบรับประทานมากที่สุด อันดับแรก คือ อาหารเจประเภทผัด (47%) เช่น ผัดผักรวมมิตร ผัดผักใส่เห็ดหอม ผัดหมี่เหลือง ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ เส้นหมี่ผัดกะเฉด และผัดกระเพราเจ อันดับที่สอง คือเมนูอาหารเจประเภทต้ม (25%) เช่น ต้มกระหล่ำปลี จับฉ่าย และแกงส้มเจ ส่วนอันดับสามคือ อาหารเจประเภททอด (15%) เมนูยอดนิยม คือ เผือกทอด มันทอด เต้าหู้ทอด ปอเปี๊ยะทอด เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ และขนมเจทอด

๐ คิดจะเลือกกินหรือเลือกซื้อที่ไหน ?

สถานที่ที่ผู้บริโภคจะไปหาซื้อและรับประทานอาหารเจในกรุงเทพฯ อันดับแรก คือ "ริมบาทวิถีที่อยู่ใกล้บ้าน" (28%) เนื่องจากสะดวกที่สุดในการหารับประทาน รองลงมาคือที่ "ย่านเยาวราช" (23%) ซึ่งมีอาหารเจอร่อยๆ ที่เป็นร้านค้าและแผงลอยต่างๆ อยู่แทบทุกตรอกซอกซอยของถนน เช่น ที่หน้าวัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ซึ่งนอกจากจะซื้อ/รับประทานอาหารเจแล้ว ยังถือโอกาสทำบุญได้อีกด้วย และอันดับสามคือ "ริมบาทวิถีที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน" (21%) นอกจากนั้น มีคำตอบของหลายราย (13%) ที่น่าสนใจคือตอบว่า "จะทำรับประทานเองที่บ้าน"

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้บริโภคจะชอบความ "สะดวกสบาย" ในการหาแหล่งรับประทานอาหารเจที่ใกล้บ้านและที่ทำงานของตน และไม่ได้เกี่ยงว่าเป็นการขายอาหารริมบาทวิถี ซึ่งอาจจะมีฝุ่นควันจากรถยนต์และมลภาวะเท่าใดนัก ขอให้สะดวกไว้ก่อน

๐ สิ่งที่ผู้บริโภคอยากให้ปรับปรุง

อันดับแรก สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการอาหารเจปรับปรุงคือเรื่อง "ราคาอาหาร" (26%) ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าผู้ขายตั้งราคาอาหารเกินความเป็นจริงไปมาก ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ ค้ากำไรเกินควร แต่ก็จำเป็นต้องซื้อรับประทาน เพราะหลายรายตั้งใจจะถือศีลกินเจในเทศกาลนี้จริงๆ จึงต้องหาอาหารเจรับประทานทุกมื้อจนกว่าจะครบ ผู้ประกอบการที่คิดจะ "โขก" ราคาให้สุดๆ ควรคิดให้ดี ยุคนี้อะไรก็แพง ผู้บริโภคไม่อยากจ่ายมากในสิ่งที่ไม่ควรจะจ่าย และหากคิดในแง่บุญบาปในเทศกาลกินเจแล้ว "การค้ากำไรเกินควร" อาจเป็นบาปสะสมทุกปีของผู้ขายอาหารเจก็ได้

อันดับที่สอง มีเปอร์เซ็นเท่ากัน 2 เรื่อง (เรื่องละ 24%) คือ "ความมันของอาหาร" และ "ความสะอาด"

สำหรับความมันของอาหาร ผู้บริโภคต้องการให้ปรับปรุงเพราะผู้บริโภคสมัยนี้ "กลัวอ้วน" และส่วนใหญ่เชื่อว่ากินอาหารเจแล้วโคเลสเตอรอลสูง ซึ่งในข้อเท็จจริง แม้ว่าการรับประทานอาหารเจจะช่วยลดโคเลสเตอรอล แต่หากมีความมันมากเกินไป นอกจากจะไม่ช่วยลดโคเลสเตอรอลแล้ว ยังอาจจะช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือดให้สูงขึ้นได้ นอกจากนั้นคือ ถ้าอาหารมีความมันมากจะทำให้รับประทานไม่ได้มากเพราะ "ความเลี่ยน" นั่นเอง แทนที่จะขายได้มากเลยกลับขายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ส่วนเรื่องความสะอาด ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการระมัดระวังเรื่อง "ความสะอาด" ของหลายๆ อย่าง เช่น "วัตถุดิบ" ที่ใช้ทำอาหารเจ โดยเฉพาะผักต่างๆ มีผู้ตอบจำนวนมากระบุว่าอยากให้ผู้ประกอบการเอาใจใส่เรื่องการล้างผักให้สะอาด เพราะพบบ่อยๆ ว่าผักมีกลิ่นยาฆ่าแมลง และบางรายบอกว่าเจอหนอนในผัก ความสะอาดอีกเรื่องที่นึกไม่ถึงว่าผู้บริโภคจะให้ความใส่ใจคือ "ความสะอาดของภาชนะ" ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการแยกภาชนะที่ใส่อาหารชนิดต่างๆ ไม่ให้ปะปนกัน เพราะพบว่าผู้ประกอบการหลายเจ้าที่ใช้ภาชนะต่างๆ ร่วมกัน ทำให้ไม่น่ารับประทาน และดูไม่สะอาด

อันดับที่สาม สิ่งที่ผู้ประกอบการควรปรับปรุงคือ "ความหลากหลายของเมนู" (15%) ผู้บริโภคต้องการให้ผู้ประกอบการคิดเมนูอาหารเจใหม่ๆ มานำเสนอให้มากขึ้น เพราะการที่ต้องรับประทานอาหารเจหลายวันติดกันด้วยเมนูอาหารเดิมๆ อาจทำให้วันท้ายๆ ของเทศกาลกินเจ ผู้ที่ตั้งใจกินเจให้ตลอดเทศกาลเกิดอาการ "เจแตก" เพราะเบื่อเมนูเดิมสุดๆ หลายรายเมื่อถือโอกาส "ออกเจ" ก่อนครบกำหนด เลยชวนเพื่อนฝูงไปหาของอร่อยที่เป็นเนื้อสัตว์ทานกันเป็นที่สนุกสนาน แล้วอ้างว่าเจแตกเพราะร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ เลยต้องกินชดเชยเป็นการใหญ่

เมื่อทราบข้อมูลแบบนี้แล้ว ผู้ประกอบการอาหารเจคงได้ไอเดียหลายอย่างไปปรับปรุงให้ถูกใจผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การลดความมันของอาหาร ความสะอาดของอาหารและภาชนะ การตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ฉวยโอกาสกับผู้บริโภค หวังรวยจากขายอาหารเจปีละครั้ง และต้องพยายามคิดสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ให้กับอาหารเจ เช่น เมนูอาหารเจประเภทผัด จากผลวิจัยเป็นที่น่าสังเกตุว่า คนชอบอาหารเจประเภทผัดมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่า "อร่อย" กว่าอาหารเจประเภทอื่นๆ ซึ่งอาหารประเภทผัดสามารถประยุกต์เมนูอาหารได้หลากหลายกว่าประเภทอื่น

ส่วนการหาข้อมูลเรื่องเมนูอาหารเจแปลกๆ ใหม่ๆ ก็หาได้ไม่ยาก เช่น ใช้ google หาคำว่า เมนูอาหารเจ บาง Website จะมีข้อมูลเรื่องการกินเจ เมนูอาหารเจ และการรักษาสุขภาพตาม Trend ยุคนี้ให้อ่านมากมาย

ถึงแม้บางคนจะมีความเห็นว่า "จะกินเจทั้งทีทำไมต้องเลือกมากและเรื่องมาก" ก็ตาม แต่ถ้าหากท่านเป็นผู้ประกอบการ และทราบว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ท่านจะจัดหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการมาสนองความต้องการของลูกค้าของท่านหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น