กิจการอุตสาหกรรมหรือกิจการที่ผลิตสินค้าเป็นกิจการที่ต้องใช้พนักงานเป็นจำนวนมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานฝ่ายผลิต ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการตลาด ฝ่ายสำนักงาน มักจะมีพนักงานที่เข้าทำงานในแต่ละกะเป็นจำนวนมาก
ในการบริหารจัดการพนักงานมักจะมีปัญหาเรื่องของคนมากกว่าเรื่องของกระบวนการผลิต เพราะปัญหาของคนแก้ยากกว่าตัวสินค้าหรือบริการ กิจการที่ขายสินค้า ผลิตสินค้า หรือให้บริการที่มีพนักงานจำนวนมากมักจะมีพนักงานบางส่วนลาออกไปทำงานในกิจการอื่นเป็นประจำ ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายบุคคลจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยากอยู่กับกิจการต่อไป การสร้างแรงจูงใจที่นอกเหนือจากการจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นยังมีอีกวิธีหนึ่งที่นิยมทำกันเป็นประจำก็คือ การให้สวัสดิการแก่พนักงาน กิจการใดให้สวัสดิการแก่พนักงานได้ดี คนงานส่วนใหญ่ก็อยากทำด้วยไม่อยากย้ายไปไหน
การให้สวัสดิการแก่พนักงานจึงเป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจัดให้แก่ลูกจ้าง เช่น จัดให้มีรถรับ-ส่งพนักงาน จัดให้มียาหรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดให้มีการแข่งกีฬาภายใน จัดให้พนักงานมีการพัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น
ดังนั้นคำว่า "สวัสดิการพนักงาน" ก็คือสิ่งที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อให้ผู้จ้างมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ในการทำงานดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ปี 2541
แต่อย่างไรก็ดี นายจ้างบางรายก็อาจจะมีการให้สวัสดิการนอกเหนือจากกฎหมายแรงงานกำหนดก็สามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น การให้สวัสดิการแก่พนักงานหากสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อย 5 คน เพื่อเสนอแนะหรือร่วมหารือกับฝ่ายนายจ้างในการจัดให้มีสวัสดิการแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
การให้สวัสดิการแก่พนักงานในเรื่องของการรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมแล้ว บางกิจการยังมีการให้สวัสดิการพนักงานในการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมนอกจากเหนือจากการประกันสังคมเพื่อให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น โดยการให้พนักงานมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง
การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้สิทธิสวัสดิการพนักงานเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงโดยมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสดมาแสดง ประมวลรัษฎากรก็ให้สิทธิแก่นายจ้างสามารถนำค่ารักษาพยาบาลของพนักงานมาถือเป็นรายจ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (4) กำหนดให้เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สำหรับ
(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย
(ข) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องถือเป็นเงินได้ของพนักงาน และนายจ้างสามารถนำค่ารักษาพยาบาลมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักจะพบกันอยู่บ่อย ๆ ในทางปฏิบัติหลายบริษัทมักจะมีการกำหนดวงเงินในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไว้ เช่น บริษัทประกอบกิจการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปจำหน่าย บริษัทได้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงานเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล
โดยระเบียบของบริษัทกำหนดวงเงิน กรณีเจ็บป่วยทั่วไปของพนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 50,000 บาทต่อปี แต่ปรากฏว่า ในบางกรณีค่ารักษามีจำนวนเกิน 50,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัท แต่เนื่องจากพนักงานผู้นั้นเป็นผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทมาเป็นเวลานานและเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติงานของบริษัทเป็นอย่างมาก บริษัทจึงให้ความช่วยเหลือในค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ในกรณีบริษัทมีระเบียบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 50,000 บาทต่อปี เมื่อบริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานคนใดเกิน 50,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัท เงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 50,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
บริษัทจึงไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานได้รับจากบริษัทเข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้าง ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509
สิ่งที่นายจ้างหรือบริษัทจะต้องระมัดระวังในการให้สวัสดิการแก่พนักงานกรณีค่ารักษาพยาบาลจะต้องมีการกำหนดเป็นระเบียบสวัสดิการพนักงาน ต้องให้สวัสดิการนี้แก่พนักงานทุกคนหากเข้าหลักเกณฑ์ที่บริษัทได้กำหนด และหากมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินกำหนด ค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินบริษัทจะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
* * * บทความโดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร * * *