xs
xsm
sm
md
lg

TAX KNOWLEDGE : ค่ารักษาพยาบาลเป็นรายจ่ายหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเราทุกคนที่จะต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐเป็นคำที่ทุกคนทราบดีแต่หลายคนก็ไม่ค่อยดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่เล่นกีฬา ทำแต่งานผลสุดท้ายก็ไม่พ้นโรคภัยไข้เจ็บ

ผมเองเป็นคนชอบออกกำลังกายโดยเฉพาะวิ่งถ้ามีโอกาสก็จะวิ่งทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้ขยับเคลื่อนไหวมีเหงื่อ เพื่อให้ทำงานหนักได้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

แต่การออกกำลังกายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการรักษาสุขภาพเท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่จะต้องมีส่วนร่วมทำให้สุขภาพแข็งแรง เช่น การรับประทานอาหารให้มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีวิตามินบำรุงร่างกาย แต่บางครั้งการทำทุกอย่างให้ร่างกายแข็งแรงก็อาจจะเจ็บป่วยได้เหมือนกัน ทั้งนี้อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่างด้วยกันขึ้นอยู่กับดวงด้วย

โดยปกติแล้วหากเป็นพนักงานบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องให้พนักงานจ่ายเงินเพื่อประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เมื่อพนักงานเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารักษาพยาบาลตามสถานพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรประกันสังคม

แต่ในบางครั้งที่พนักงานจำเป็นต้องรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลอื่นซึ่งก็ยังคงเบิกเงินค่าประกันสังคมได้ แต่มีจำนวนเงินที่ต้องไม่เกินกว่ากฎหมายประกันสังคมกำหนด

ดังนั้น ส่วนที่เกินนั้นพนักงานจะต้องรับภาระเอง หลายกิจการจึงมองเห็นว่าหากให้พนักงานรับภาระเองอาจจะไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งหมดซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการทำงานของกิจการได้ ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะบรรเทาภาระให้แก่พนักงานได้ และบริษัทเองก็ได้รับประโยชน์ทางภาษีอากร

โดยนำรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานจ่ายไปและบริษัทได้จ่ายแทนให้นำมาถือเป็นรายจ่ายของบริษัทได้และสรรพากรยอมรับ
หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กำหนดเป็นระเบียบสวัสดิการพนักงานให้พนักงานสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ตามประมวลรัษฎากรได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า การที่นายจ้างได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับลูกจ้างตามที่จ่ายจริง โดยมีหลักฐานประกอบการจ่ายเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน หรือ บิลเงินสด หากการจ่ายเงินดังกล่าว

ด้านนายจ้างถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษากร ส่วนลูกจ้างที่เบิกค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงได้รับยกเว้นไม่ต้องถือเป็นเงินได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (4) ดังนี้

"(4) เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สำหรับ

(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย

(ข) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น "

การกำหนดระเบียบสวัสดิการพนักงานให้ลูกจ้างเบิกค่ารักษาพยาบาลได้นั้น ยังรวมถึง สามีหรือภริยา บุตรและบุพการีของลูกจ้างได้รับยกเว้นไม่ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ประเด็นที่สำคัญจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลของลูกจ้างที่นำมาเบิกเป็นรายจ่ายบริษัท และบริษัทถือเป็นรายจ่ายได้นั้นจะต้องประกอบด้วย

1. ต้องมีระเบียบสวัสดิการพนักงานกำหนดไว้
2. ต้องมีหลักฐานเอกสารการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาล เช่น ใบเสร็จรับเงิน บิลเงินสด
3. จะต้องจ่ายตามที่ลูกจ้างได้จ่ายไปจริง

หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็สามารถนำบิลค่ารักษาพยาบาลของลูกจ้างมาถือเป็นรายจ่ายของบริษัทได้ และลูกจ้างไม่ต้องถือเป็นเงินได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่านี้ก็จะทำให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

บทความโดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
กำลังโหลดความคิดเห็น