"การควบคุมต้นทุนการผลิต" ให้อยู่ในกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ นับเป็นวิธีการลด ต้นทุนของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้ผลน่าพอใจยิ่งอีกวิธีหนึ่ง
ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ผู้ที่จะทำหน้าที่ควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มักจะต้องมีความรู้ความชำนาญในเรื่องต่อไปนี้
เรื่องแรก คือ ความสามารถในการประมาณต้นทุนการผลิต และการกำหนด เป้าหมาย
ในการประมาณต้นทุนการผลิตนั้น เราจะต้องทราบก่อนว่า เราจะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาเท่าใด แล้วคิดคำนวณกำไรที่ต้องการออกมา แล้วจึงทำการกำหนด (ประมาณ) ต้นทุนการผลิต ซึ่งประกอบด้วยการคำนวณค่าวัตถุดิบที่ใช้ ต้นทุนการจัดซื้อ ต้นทุนการผลิตหรือแปรรูปและอื่น ๆ
การที่จะสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้ถึงราคาของชิ้นส่วนแต่ละชนิดอย่างละเอียดด้วย
เรื่องที่สอง คือ ความเข้าใจถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในแต่ละกระบวนการผลิต
ในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เราจะต้องเข้าใจถึงขั้นตอนต่าง ๆ ในแต่ละกระบวนการผลิตอย่างชัดเจน และเข้าใจในกระบวนการผลิตทั้งหมดที่จะทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ด้วย
การที่เราจะต้องรู้ถึงขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งหมดของแต่ละกระบวนการผลิต ก็เพราะว่าหากมีความผิดปกติในแต่ละขั้นตอนเกิดขึ้น เราจะได้สามารถค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดและหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ โดยอาจจะศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรฐานการปฏิบัติงานหรือวิธีการที่เคย แก้ปัญหาได้แล้ว
เรื่องที่สาม คือ ความเข้าใจถึงราคาของวัตถุดิบ
การทำความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงค่าใช้จ่ายหรือราคาของวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่ง ๆ หรือทราบว่าวัตถุดิบแต่ละหน่วยนั้นมีราคาเท่าไร จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมต้นทุนการผลิต
เรื่องที่สี่ คือ ความเข้าใจถึงงบประมาณในการผลิต
ในการผลิตสินค้าให้ได้ 1 ชิ้นนั้น เราจะต้องรู้ว่าต้องใช้วัตถุดิบหรือวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองอะไรบ้าง เช่น ต้องใช้กระดาษและกาวเป็นปริมาณเท่าใด ในราคาเท่าไร จะต้องใช้ใบมีดและน้ำมันหล่อลื่นเท่าใด หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องรู้และทำความเข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อที่จะนำมาคำนวณเป็นงบประมาณสำหรับการผลิตสินค้าหนึ่ง ๆ ได้
เรื่องที่ห้า คือ ความเข้าใจในกระบวนการจัดซื้อ
เรามักจะคิดกันว่าราคาของอะไหล่หรือชิ้นส่วนที่จะจัดซื้อเข้ามาเพื่อการผลิตนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดซื้อโดยตรง ฝ่ายผลิตไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การคิดกันเองเช่นนี้นับเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเรามีหน้าที่จะต้องให้ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดซื้อจัดหาให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอะไหล่ที่ราคาประหยัดและมีคุณภาพด้วย
นอกจากเรื่องของ "ต้นทุน" หรือ "ราคา" ที่เป็นเรื่องของ "ตัวเงิน" ทั้งห้าเรื่องที่กล่าวข้างต้นแล้ว เราควรจะต้องมีความรู้ความชำนาญในเรื่องของ "การบริหารจัดการคุณภาพ" ด้วย
เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตที่อาจจะบานปลาย อันเนื่องมาจาก "สินค้าที่ด้อย คุณภาพ"
* * * บทความโดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี * * *